จิตวิทยากับการเพิ่มผลผลิต ตอนที่5 "จำใจต้องลงโทษ"

บทความโดย : อ.บรรณวิท  มณีเนตร

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2554

 

          เชื่อว่าหัวหน้างานทุกคนคงไม่มีใครอยากลงโทษลูกน้องตัวเอง ถ้าหัวหน้างานบอกว่าชอบ สะใจ 

ที่ได้ลงโทษลูกน้อง คนๆ นั้นคงไม่ใช่หัวหน้างานที่ดี

         การลงโทษเป็นสิ่งที่หัวหน้างานทุกคนพยายามหลีกเลี่ยง เพราะการลงโทษส่งผลให้เกิดความไม่ชอบ

ไม่พึงพอใจของลูกน้องที่มีต่อหัวหน้า เมื่อลูกน้องไม่ชอบไม่พอใจหัวหน้าอาจส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพ

การทำงานของลูกน้องได้ หัวหน้าหลายคนกลัวเรื่องนี้จึงหลีกเลี่ยงที่จะไม่ลงโทษ

         ในขณะที่มีหัวหน้าบางคนไม่ต้องการลงโทษลูกน้อง เพราะต้องการสร้างภาพว่าตัวเองเป็นที่พึ่งพิง

ของลูกน้องได้ บางครั้งไม่ใช่ลูกน้องตัวเองยังอุตส่าห์ไปยุ่งกับเขา ไปออกความเห็นกับลูกน้องของแผนกอื่น

ว่าไม่ถูกต้อง ลงโทษอย่างนี้ไม่ดี อย่างนั้นไม่ถูก เพราะอยากให้ลูกน้องคนอื่นรักตัวเองมากๆ

         ถ้าหัวหน้าไม่กล้าลงโทษลูกน้องแล้วจะมีหัวหน้าเอาไว้ทำไม 

         การลงโทษไม่ใช่เกิดจากความสะใจ สนุก หรือบ้าอำนาจ แต่การลงโทษคือ การบอกกับผู้ที่ถูกลงโทษ

ว่า “พฤติกรรมที่คุณทำนี้ ไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม ต้องการให้ลดพฤติกรรมนี้ลง เราจึงต้องลงโทษคุณ” ดังนั้น

การลงโทษต้องไม่ใช้อารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่เป็นเหตุและผลมากกว่า หัวหน้างานคนใดที่ไม่กล้าลงโทษ

ลูกน้อง นั่นก็เท่ากับว่าท่านกำลังส่งเสริมให้ลูกน้องท่านทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม

          ลองคิดง่ายๆ ถ้าท่านขับรถและกำลังรอกลับรถอยู่เลนขวาสุด ซึ่งมีคุณตำรวจกำลังอำนวยความสะดวก

อยู่ ในขณะนั้นอยู่ดีๆ ก็มีรถคันหนึ่งวิ่งแซงซ้ายขึ้นมาแล้วเลี้ยวกลับรถแทรกรถคันหน้าสุด แต่ตำรวจที่อยู่

ในบริเวณนั้นไม่ทำอะไร ยืนเฉยๆ ท่านจะรู้สึกอย่างไร

          “ตำรวจทำถูกแล้ว” หรือว่า “อะไรกันนี่ ทำอย่างนี้ได้ไง ครั้งหน้าเราไม่มาต่อแถวแบบนี้แล้ว”

         จะเห็นว่าการลงโทษ เป็นสิ่งจำเป็นที่หัวหน้างานต้องทำเพื่อบอกกันลูกน้องว่า สิ่งที่เราไม่อยากให้

เกิดขึ้นคืออะไร การไม่บอกเท่ากับท่านกำลังส่งเสริมให้เขาทำพฤติกรรมที่ท่านไม่ชอบนั้น ในขณะที่ลูกน้อง

คนอื่นๆ ก็จะเห็นว่า ท่านไม่ว่าอะไรก็จะยิ่งเอาอย่างแล้วทำพฤติกรรมนั้นๆ อีก 

          การลงโทษก็เพื่อปรับพฤติกรรมของผู้ถูกลงโทษ การลงโทษจึงเป็นสิ่งจำเป็นพอๆ กับการ

ให้รางวัล

         เราควรทำอย่างไรถึงจะลงโทษได้อย่างถูกต้อง

         ข้อแรกท่านต้องทำใจของท่านเองก่อนว่า การลงโทษ

นี้เพื่อปรับพฤติกรรม ไม่ใช่การลงโทษเพราะท่านโกรธ โมโห ไม่ชอบขี้หน้าหมอนี่แล้วหาเรื่องลงโทษ การ

ลงโทษจึงต้องมีสติไม่ใช้อารมณ์ ถ้ายังมีอารมณ์อยู่อย่าลงโทษ (ท่านต้องถามตัวท่านเองก่อน)

         ข้อสอง เมื่อท่านทำใจให้ไม่โกรธได้แล้ว ท่านต้องกำหนดว่าพฤติกรรมอะไรคือ พฤติกรรมที่ท่านต้อง

ลงโทษเช่น การมาสายเป็นพฤติกรรมที่ท่านต้องการปรับ ดังนั้นเราจะลงโทษที่พฤติกรรมนี้ไม่ใช่พฤติกรรมอื่น 

         ข้อสาม ท่านต้องกำหนดมาตรการลงโทษที่เหมาะสมกับพฤติกรรมที่เลือกไม่หนักเกินไป ระยะเวลา

เท่าไร และที่สำคัญท่านต้องแน่ใจว่าโทษที่ท่านให้นั้นเป็นโทษในสายตาของคนรับไม่ใช่การให้รางวัลแทน

&nb
sp;        ข้อสี่ บอกผู้ที่ถูกลงโทษให้ชัดเจนว่า ท่านลงโทษเขาที่พฤติกรรมอะไร ต้องการให้เขาปรับอย่างไร 

ลงโทษนี้เขายอมรับหรือไม่ ถ้าไม่ยอมรับ มีเรื่องอะไรที่ต้องพูดคุยกันไหม เพราะฉะนั้นเขาต้องยอมรับในการ

ลงโทษนั้นๆ ถ้าไม่ยอมรับมีเรื่องที่ต้องปรับปรุงอะไรบ้างที่เขาจะทำเพื่อไม่ต้องลงโทษ

         ข้อห้า ติดตามพฤติกรรมหลังลงโทษว่า พฤติกรรมที่ท่านกำหนดไว้เช่น การมาสายนั้นมีจำนวนครั้ง

ที่ลดลงหรือไม่ ถ้าไม่ลดแสดงว่าการลงโทษของท่านมีปัญหาแล้วให้ท่านกลับไปขั้นตอนที่ 1 ใหม่ แต่ถ้าลดลง 

ท่านควรพิจารณาให้รางวัลเขาเช่น คำชม เพื่อให้เขาคงพฤติกรรมนั้นๆ เอาไว้ต่อไป

         การลงโทษจึงไม่ใช่เรื่องอารมณ์แต่เป็นเหตุผล คนเราทำอะไรก็ด้วยเหตุผลทั้งนั้น สัปดาห์หน้าผมจะ

อธิบายเรื่องของเหตุผลกับอารมณ์ว่าระหว่างการลงโทษกับการให้รางวัล อะไรใช้ในการปรับพฤติกรรม

ได้ดีกว่ากัน