จิตวิทยากับการเพิ่มผลผลิต ตอนที่ 7 "สร้างแรงจูงใจ เรื่องง่ายนิดเดียว"

บทความโดย  : อ.บรรณวิท  มณีเนตร

วันที่ 21 กรกฎาคม 2554

 

            ต้องขออภัยที่หายไปนาน ช่วงนี้เป็นช่วงที่ตระเวณบรรยายเรื่องของเทคนิคการใช้จิตวิทยาในการทำงานค่อนข้างเยอะ เลยทำให้ไม่ค่อยมีเวลา ต้องขออภัยอีกครั้ง

            คราวที่แล้วเราคุยกันถึงที่ว่า จะทำอย่างไรให้คนที่ไม่เคยทำพฤติกรรมมาก่อนเช่น ไม่เคยเขียนข้อเสนอแนะ มาก่อนจะทำอย่างไรให้เขาเขียนข้อเสนอแนะเพื่อที่จะได้ให้รางวัล?

           ถ้าจะคุยเรื่องนี้ก็ต้องพูดถึงทฤษฎีเกี่ยวกับการสร้างแรงจูงใจหรือที่เรียกว่า Motivation กันก่อน

           คำว่า Motivation มาจากรากศัพท์ภาษาละตินคำว่า Movere ซึ่งแปลว่า to move (Porter, Bigley, Steer, 2003) หรือ เคลื่อนย้าย 

           เราเคยได้ยินมาว่ามีการอบรมเกี่ยวกับ Motivation มากมาย แต่ส่วนมากเป็นเรื่องที่ต้อง Motivate ตัวเองเสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งในความเห็นของผมแล้วการ Motivate ตัวเองหรือจูงใจตัวเองนั้นเป็นเรื่องที่เล็กมาก เป็นเรื่องที่ง่ายมาก แต่การ Motivate เพื่อให้คนอื่นที่อยู่รอบตัวเราทำพฤติกรรมที่ต้องการนี่ซิ เป็นเรื่องที่ยากกว่ากันมากมายนัก ลองนึกดูซิว่า 

           “ถ้าเราต้องย้ายภูเขาหนึ่งลูกออกไปอีกสัก 1 กิโลเมตร กับการโน้มน้าวให้เพื่อนคุณสักคนหนึ่งเลิกสูบบุหรี่ อันไหนยากกว่ากัน?”

           การสร้างแรงจูงใจหรือ Motivate ในที่นี้จึงไม่ได้หมายถึงการสร้างแรงจูงใจในตนเอง แต่เป็นการจูงใจผู้อื่นให้เขาทำพฤติกรรมบางอย่างตามที่เราต้องการหรือ Move Behavior นั่นเอง

            Porter ได้นำเสนอว่า ในการทำให้เกิดพฤติกรรมนั้นประกอบไปด้วย 3 ขั้นตอนคือ

               1. ทำให้เกิดพฤติกรรม หรือ Energize คือการเริ่มทำให้เขาเกิดพฤติกรรมคือจุดให้ติด

               2. กำกับพฤติกรรมนั้นๆ ให้เป็นไปตามที่ต้องการ หรือ Direct 

               3. การรักษาให้พฤติกรรมนั้นๆ คงอยู่หรือ Sustain 

            การสร้างแรงจูงใจจึงต้องเริ่มต้นตรงที่ว่า  “เราจะจุดหรือทำให้เกิดพฤติกรรมนั้นๆ ได้อย่างไร?”

            สมมุติว่า ถ้าท่านเพิ่งทานอาหารจากร้านบุฟเฟ่อาหารญี่ปุ่นยอดฮิต เสร็จมาหมาดๆ อิ่มจนท้องจะแตกแล้วผมก็ชวนท่านไปทานอาหารจีนต่ออีก ท่านจะไปไหม? คำตอบก็คงจะ ไม่ (กูอิ่มจะตายอยู่แล้ว)

            นั่นหมายความว่าผมไม่สามารถสร้างแรงจูงใจให้ท่านเกิดพฤติกรรมที่ผมต้องการ ซึ่งก็คือการทานอาหารจีนได้ แต่ในทางกลับกัน ถ้าท่านยังไม่ได้ทานอาหารเช้ามา และตอนนี้ก็เป็นเวลาเที่ยงครึ่งแล้ว ถ้าผมชวนท่านไปทานบุฟเฟ่อาหารญี่ปุ่นท่านจะไปไหม? ท่านก็อาจจะไป 

            แต่ถ้าผมต้องการให้ท่านไปแน่นอน ผมอาจเสนอเงื่อนไขเพิ่มอีกว่า มื้อนี้ผมเลี้ยงเอง ท่านจะไปไหม?

            ถ้าท่านยอมที่จะไปทานอาหารญี่ปุ่นกับผม ก็แสดงว่า ผมสามารถสร้างแรงจูงใจให้ท่านทำพฤติกรรมที่ผมต้องการคือ ไปทานบุฟเฟ่ได้นั่นเอง

            ถ้าผมชวนท่านไปทานอาหารตอนที่ท่านอิ่มท่านบอกไม่ แต่

            ถ้าผมชวนท่านไปทานอาหารตอนท่านหิว ท่านจะมีโอกาสไปมากกว่า

            ดังนั้นผมอาจบอกว่า คนเราจะแสดงพฤติกรรมอะไรก็จะ “ขึ้นอยู่กับความต้องการของเขา”

            ถ้าท่านหิวคือต้องการอาหาร ผมเสนออาหาร ท่านรับ 

            ถ้าท่านอิ่มคือไม่ต้องการอาหาร ผมเสนออาหารท่านก็ไม่รับ

            ดังนั้นก่อนที่จะคุยกันเรื่องของการสร้างแรงจูงใจ เราจึงควรรู้จักความต้องการของคนเราก่อนว่ามีอะไรบ้าง 

            ทฤษฎีเกี่ยวกับความต้องการมีหลากหลายทฤษฎี แต่ผมจะนำเสนอเฉพาะที่เราสามารถนำมาใช้ในการทำงานของเราได้อย่างง่ายๆ สัก 2 หรือ 3 ทฤษฎี แต่น่าเสียดายที่ โควต้าหน้ากระดาษหมดพอดี เอาไว้คราวหน้าผมจะมาอธิบายให้ฟังต่อ