จิตสำนึกความปลอดภัย

บทความโดย อาจารย์ปราโมทย์ โอภาสมงคลชัย

วันที่ 7 เมษายน 2554

 

เรื่องของเรื่องมันเป็นแบบนี้…

ผู้ปฏิบัติงาน 

          “อุบัติเหตุมันไม่เกิดขึ้นกับฉันตอนนี้หรอก, ฉันก็ทำแบบนี้มาตั้งนานแล้ว ก็ไม่เห็นจะเคยได้รับบาดเจ็บอะไรเลย, คุณรู้มั้ยว่าที่คุณสั่งให้ผมทำโน้น ทำนี่ เกี่ยวกับความปลอดภัยมันทำให้ผลผลิตของผมล่าช้า, ทำไมไม่เห็นมีใครบอกผมเลย, คุณไม่ได้ทำงานเหมือนผมคุณจะไปรู้อะไร”

หัวหน้างาน 

          “นี่คุณจะต้องให้ผมบอกตั้งกี่ครั้งถึงจะยอมสวมใส่หน้ากากซะที, อย่าให้ผมเห็นคุณทำแบบนี้อีกทีนะ, อ่านหนังสือไม่ออกหรือไง ว่าต้องสวมหมวกนิรภัยในที่นี้, ไปเอาคู่มือความปลอดภัยมาต้มกินซะจะได้ไม่ต้องให้ผมคอยมาบอก, คุณเป็นอะไรมันก็ไม่เกี่ยวกับผม อย่างมากผมก็ช่วยงานให้คุณแค่ 500 บาท, คุณต้องทำตามแบบนี้นะอย่าให้ผมต้องเดินมาเห็นอีกนะ, คุณอยากทำอะไรก็เรื่องของคุณแต่อย่าให้เรื่องเดือดร้อนถึงผมก็แล้วกัน”

          คำพุดเหล่านี้ผมเชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยิน หรือเคยใช้บ้างในที่ทำงาน พวกเราคิดว่าคำพูดอย่างนี้กำลังบอกอะไรเราเกี่ยวกับการบริหารความปลอดภัยในองค์กรของเรา… แน่นอนครับ คำพูดเหล่านี้มันมีความหมายไปทางด้านลบ (Negative responses) และ บ่งบอกได้ถึงทัศนคติ และจิตสำนึกด้านความปลอดภัยของคนในองค์กรว่า โดยมีการแสดงผลออกมาทางพฤติกรรมความปลอดภัย

          ทำให้ผมนึกถึงคำสอนของ อ.วรภัทร์ ภู่เจริญ เคยบอกว่า “ต้องให้ความรัก ก่อนให้ความรู้” ผมก็เลยเอามาเปรียบเทียบจากประสบการณ์ในการทำงานจริง คำตอบก็เป็นอย่างที่อาจารย์บอก “องค์กรใดก็ตามถ้าผู้บริหารได้แสดงความห่วงใย ใส่ใจ ความปลอดภัย ออกมจากใจจริง พนักงานจะสามารถสัมผัสได้ และจะร่วมแรงร่วมใจกันทำพฤติกรรมด้านความปลอดภัย ด้วยจิตสำนึกที่ดี”

          การสร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัยนั้นในหลายๆ องค์กร ก็มีความพยายามหาวิธีการต่างๆนำมาใช้ เช่น การสร้างมาตรฐานต่างๆ, อบรมความปลอดภัย, ตรวจสอบความปลอดภัย, สนทนาความปลอดภัย (safety talk), จัดบอร์ด, การสังเกตพฤติกรรมความปลอดภัย และอื่นๆ ก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ หลายครั้งที่เราลืมนึกไปว่า เราออกคำสั่งมากไปหรือเปล่า, พนักงานเบื่อหรือไม่ที่ต้องปฏิบัติตาม, เราจัดหนักไปหรือเปล่า, พนักงานทราบหรือไม่ว่าทำไมเขาต้องปฏิบัติ, พนักงานอยากที่จะเสนอแนะอะไรบ้างหรือไม่, อะไรเป็นสาเหตุพื้นฐานของพฤติกรรมเสี่ยง และในตอนเราไม่ได้ตรวจสอบพนักงานยังคงมีพฤติกรรมปลอดภัยเหมือนที่เราเห็นหรือไม่

          “การสร้างจิตสำนึกความปลอดภัย” จากวิธีดังกล่าวเป็นเรื่องที่ดี แต่ยังไม่เพียงพอ โดยเฉพาะผู้บริหาร และหัวหน้างาน ควรที่จะเพิ่มเติมโดยการ “แสดงความรัก ความห่วงใย เข้าใจ ออกมาจากใจด้วยการกระทำที่ชัดเจน, ฟังให้มาก, พูดให้เขาคิดแต่ไม่สั่งให้เขาทำ, เสนอแนะให้เขายอมรับ และรับฟังที่เขาเสนอ, ชมเชยเมื่อมีโอกาส ไม่ต่อว่าถ้าต่อหน้าคนอื่น, เครียดไปไม่บรรเจิด สนุกเถิดจะเกิดผล” 

          การสร้างจิดสำนึกด้านความปลอดภัยต้องใช้เวลา การทำอย่างสม่ำเสมอ ถูกต้อง และได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายบริหาร จะช่วยให้งานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยประสบความสำเร็จได้ อย่ารีบร้อน หรือผลักดันมากเกินไป พนักงานจำเป็นต้องใช้เวลาการปรับเปลี่ยน และซึมซับการสร้างจิตสำนึกความปลอดภัย เพื่อให้กลายเป็นนิสัย และพฤติกรรมความปลอดภัยติดตัวตลอดไป