ปัจจัยในการทำ TPM ให้สำเร็จ
บทความโดย : อ.บรรณวิท มณีเนตร
วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2553
มีหลายคนถามผมว่า “มีองค์กรน้อยมากที่นำ TPM ไปใช้แล้วประสบความสำเร็จ
อยากทราบว่าเกิดจากปัจจัยอะไรบ้าง”
คำถามนี้เป็นคำถามที่น่าสนใจมาก ผมเองในฐานะที่เป็นที่ปรึกษา TPM
พบว่าสิ่งที่ถามนั้นก็เป็นจริง
ผมจึงมานั่งรวบรวมว่าอะไรคือปัจจัยที่ทำให้องค์กรที่ทำ TPM แล้วประสบความสำเร็จ
ปัจจัยที่ทำให้สำเร็จ
o ปัจจัยแรกคือ ผู้บริหารระดับสูง ที่ต้องให้การสนับสนุนในด้านงบประมาณ เวลา
อีกทั้งยังคอยติดตามความคืบหน้าอยู่ตลอดเวลา
ไม่ปล่อยให้กิจกรรมเป็นหน้าที่ของคนอื่น
o ปัจจัยที่สองคือ การให้ความรู้ความเข้าใจเรื่อง TPM แก้ทีมงานทุกระดับ
ขอเน้นว่าต้องทุกระดับ เนื่องจากการดำเนินการกิจกรรม TPM
เป็นกิจกรรมที่ต้องการแรงใจและการดำเนินการที่ต่อเนื่องยาวนาน
ในการทำงานอย่างมาก อีกทั้งยังเกี่ยวข้องกับคนในวงกว้าง
ดังนั้นหากพนักงานในระดับใดมีความเข้าใจที่ผิดในการดำเนินการ TPM
ก็จะทำให้เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการกิจกรรมได้
o ปัจจัยที่สามคือ ความเข้าใจในนโยบายที่ชัดเจนจากผู้บริหาร
และสื่อสารไปให้กับพนักงานทุกระดับเกี่ยวกับ TPM
เนื่องจาก TPM เป็นกิจกรรมที่ต้องอาศัยความมุ่งมั่นมาก
ดังนั้นการสื่อสารให้ชัดเจนว่าเราจะทำอะไร จะใช้ TPM มาเป็นเครื่องมือ
ในการทำให้องค์กรเดินไปข้างหน้า จะใช้ TPM
ในการทำให้ KPI ที่ได้กำหนดไว้ประสบความสำเร็จ
เพื่อที่จะให้พนักงานทุกคนปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน
o ปัจจัยที่สี่คือ ความคิดของหน่วยงานช่าง
ต้องเปลี่ยนความคิดของหน่วยงานช่างให้ได้
จากความคิดที่ว่า ฉันมีหน้าที่ซ่อม เมื่อเครื่องเสีย เป็นฉันต้องวางแผนป้องกัน
ไม่ให้เครื่องเสีย ซึ่งการที่จะทำเช่นนี้ได้
ช่างต้องเข้าใจการทำงานของเครื่องจักรทั้งหมดเป็นอย่างดี
ต้องทราบว่าชิ้นส่วนต่างๆ ของเครื่องจักรนั้นต้องการ
การบำรุงรักษาอย่างไรและใครควรเป็นคนทำ ช่างต้องเปลี่ยนจากช่างธรรมดา
ไปสู่อาจารย์ของ Autonomous Maintenance
ที่พร้อมจะให้ความรู้กับพนักงานในฝ่ายผลิต
o ปัจจัยที่ห้าคือ ข้อมูลความสูญเสียความสูญเปล่าของเครื่องจักร
เพื่อใช้ในการกำหนดกิจกรรมที่ต้องทำในแต่ละเสาหลักให้ได้อย่างถูกต้อง
เช่นเราความเลือกเครื่องจักรใดในการทำ Model เหตุผลเพราะอะไร
หาไม่แล้วการดำเนินการกิจกรรมจะเกิดคำถามว่า ”ทำแล้วได้อะไร”
ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้พวกที่ไม่อยากทำมีเหตุผลในการต่อต้านมากขึ้น
o ปัจจัยที่หกคือ Pillar Leader ตัว Pillar Leader
ต้องทำตัวให้เป็นตัวอย่างในการทำกิจกรรม เพราะพนักงานคนอื่นๆ
กำลังมอง Pillar Leader อยู่ว่ากำลังทำอะไร จริงจังกับเรื่องที่ทำมากน้อยแค่ไหน
หวั่นไหวกับปัญหา หรือย่อท้อกับอุปสรรคในการทำกิจกรรมไหม
ถ้า Pillar Leader ยังไม่เชื่อและศรัทธาในกิจกรรม TPM
ก็จะทำให้พนักงานพลอยไม่เชื่อหรือศรัทธาด้วย เหมือนแม่ปูกับลูกปู
o ปัจจัยสุดท้ายคือ TPM Coordinator ซึ่งเป็นผู้ที่มีความสำคัญมาก
นอกจากจะเป็นผู้ที่มีความรู้ ความเชื่อและศรัทธาใน TPM แล้ว
ยังต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถในการสื่อสารกับคนได้หลากหลายแบบ
เนื่องจากการทำ TPM เป็นการเปลี่ยนวัฒนธรรมในการทำงานของคน
ในสถานที่ทำงานดังนั้นย่อมต้องให้ทั้งไม้อ่อน ไม้แข็ง ทั้งลูกล่อ ลูกชนรอบด้าน
เพื่อให้กิจกรรมเดินไปสู่ความสำเร็จ นี่เป็นเพียงปัจจัยที่ส่งเสริมให้กิจกรรม TPM
เดินหน้าไปได้เท่านั้น สิ่งสำคัญคือ ความต้องการขององค์กรหรือ Passion
ในการทำ TPM ซึ่งหากขาดซึ่งความอยากทำเสียแล้วทุกอย่างก็จบเท่านั้น
คราวหน้าจะพูดถึงปัจจัยที่เป็นอุปสรรคในการทำ TPM ว่ามีอะไรบ้าง