โรงงานส่วนมากจะทำกิจกรรมเพื่อลดต้นทุนแทบทั้งสิ้น (ถ้าองค์กรไหนยังไม่ได้ทำต้องถือว่า เชยมาก ๆ) เพราะกิจกรรมลดต้นทุนนี้เป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากสำหรับองค์กรที่ต้องการรักษาความสามารถในการแข่งขันเอาไว้ แต่เมื่อเราทำกิจกรรมลดต้นทุนพวกนี้ไปนาน ๆ สิ่งหนึ่งที่ทุกองค์กรต้องประสบพบเจอ “ทางตัน” เกิดอาการหมดมุกหรืออาการที่ไม่รู้ว่าจะทำเรื่องอะไรต่อดี
ในความเป็นจริงแล้วการลดต้นทุนนั้น เราไม่ได้ไปลดที่ตัวต้นทุนจริง ๆ เช่น สมมุติว่าเราทำธุรกิจกิจปลากระป๋องปกติเราใส่ปลาเข้าไป 4 ตัวต่อกระป๋อง เราจะมาลดต้นทุนโดยการใส่เข้าไป 3 ตัว แบบนี้ก็คงจะไม่ได้ เพราะนั่นจะทำให้มีปัญหาอย่างอื่นตามมา
เราต้องมองให้เข้าใจว่าในความเป็นจริงนั้นต้นทุนที่เราพูดเรากำลังพูดถึงต้นทุนแบบไหนกัน ต้นทุนนั้นมีด้วยกัน แบบต้นทุนแบบแรก คือ
ต้นทุนทางอุดมคติ คือต้นทุนที่ไม่มีความสูญเปล่าความสูญเสียอยู่เลย ถ้าเป็นการผลิตก็ต้องบอกว่า ไม่มีของเสีย ไม่มีเครื่องเสีย ไม่มีเวลาที่เสียไปจากการเปลี่ยนงาน หรือแม้นแต่ความคลาดเคลื่อนก็ไม่มี เช่น ชิ้นงานมีน้ำหนัก 50 กรัม +/- 2 กรัม ตรง +/- 2 กรัมนี่ก็ไม่มี มีแต่ 50 กรัมถ้วน ๆ เท่านั้น ไม่มีแม้นแต่ความผิดพลาดเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ใช้เวลาในการผสมเกินไป 15 วินาที ก็ยอมไม่ได้ ลูกค้า Claim หรือ Complaint ก็ไม่ ต้นทุนในอุดมคติก็คือต้นทุนในทางจิตนาการ เป็นต้นทุนที่คิดว่าทุกอย่างสมบูรณ์แบบไปหมด
ต้นทุนในการแข่งขัน คือ ต้นทุนที่เมื่อหักออกจากราคาขายแล้วยังทำให้องค์กรสามารถอยู่ได้หรือมีกำไรนั่นเอง เมื่อไรก็ตามที่องค์กรยังทำงานบนต้นทุนนี้ องค์กรก็ยังพอที่จะมีสามารถในการแข่งขันอยู่ ต้นทุนนี้จะสูงกว่าต้นทุนทางอุดมคติมาก
ต้นทุนปัจจุบัน คือ ต้นทุนที่องค์กรแบกรับอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งอาจจะสูงหรือต่ำกว่าต้นทุนในการแข่งขันก็ได้ โดยที่องค์กรใดก็ตามที่ต้นทุนปัจจุบันสูงกว่าต้นทุนในการแข่งขันนั่นคือองค์กรเตรียมตัวเจ้งได้ ส่วนองค์กรไหนที่ต้นทุนปัจจุบันต่ำกว่าต้นทุนในการแข่งขันองค์กรนั้นก็ยังคงสามารถอยู่ในตลาดได้ต่อไป
ทีนี้เราก็ต้องมาดูว่า ถ้าเราจะทำกิจกรรมลดต้นทุน เราจะมองแค่ทำให้ต้นทุนของเราต่ำพอที่จะแข่งขันได้เท่านั้นคงจะไม่ดีเป็นแน่ เพราะเราไม่อาจทราบได้ว่าภาวะของตลาดจะเป็นอย่างไร เราไม่อาจจะทราบได้ว่าคู่แข่งของเราเขาลดต้นทุนได้มากกว่าเราหรือไม่ เท่ากับเราก็ทำงานตามหลังคนอื่นอยู่เสมอ
มุมมองที่ดีต่อการลดต้นทุนก็คือ เราต้องมองที่ต้นทุนทางอุดมคติ นั่นคือเราต้องมองต้นทุนปัจจุบันของเราเองเทียบกับต้นทุนทางอุดมคติว่า ต้นทุนปัจจุบันของเราถ้าต่ำกว่าต้นทุนทางอุดมคติก็แสดงว่าเราคิดต้นทุนทางอุดมคติผิด แต่ถ้าต้นทุนปัจจุบันของเราสูงกว่าต้นทุนทางอุดมคตินั่นก็หมายความว่า
“ในการทำงานของเรานั้น มีความสูญเสีย ความสูญเปล่าเกิดขึ้น”
ยิ่งถ้าต้นทุนปัจจุบันสูงกว่าต้นทุนทางอุดมคติมากเท่าไร ก็แสดงว่า องค์กรของเรามีความสูญเสียมากเท่านั้น และเมื่อไรก็ตามที่มีความสูญเสีย ความสูญเปล่า นั่นก็คือโอกาสที่เราจะลดต้นทุนเพื่อที่จะทำให้ต้นทุนในปัจจุบันลดลงมาได้
ความหน้าจะเล่าว่า แล้วความสูญเสีย ความสูญเปล่า มีกี่แบบ