เมื่อน้ำท่วม ทำให้ Lean ล้มเหลว

 

บทความโดย : อ.บรรณวิท  มณีเนตร

วันที่ 10 มกราคม 2555

 

 

          ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาแนวคิดการผลิตแบบ Lean เป็นที่ได้รับความนิยมอย่างมาก หลายองค์กรพยายามนำระบบ Lean เข้ามาใช้โดยความพยายามที่จะลดต้นทุนการผลิต ด้วยการลดสต็กสินค้าต่างๆ ลงเพื่อที่จะได้ไม่ต้องใช้พื้นที่ในการเก็บสินค้าหรือวัตถุดิบ ลดการบริหารจัดการคลังสินค้า ลดเงินทุนหมุนเวียนที่ต้องจมไปกับการเก็บสต็อกสินค้าจำนวนมาก ก็ต้องถือว่าเป็นเรื่องดี 

          แต่โดยส่วนตัวแล้วผมเองก็เห็นความไม่ชอบมาพากลในระบบนี้อยู่มากมาย จนเมื่อเกิดมหาอุทกภัยในครั้งนี้ จึงได้พิสูจน์ว่าสิ่งที่ผมคิดนั้นมีโอกาสเป็นไปได้ นั่นคือเมื่อเราทำให้การผลิตของเรา Lean มากๆ เปรียบเสมือนคนที่ผอม ที่ต้องการความคล่องแคล้ว แต่ทุกๆ วันถึงแม้นจะผอมก็ต้องใช้พลังงาน ดังนั้นจึงต้องกินเข้าไปชดเชยพลังงานที่ใช้ไป แต่จะไม่กินครั้งละมากๆ เดี๋ยวอ้วนจะใช้วิธีการกินที่ละน้อยแต่กินบ่อย เหตุการณ์จะไม่มีปัญหาอะไรตราบใดที่มีของให้กินอยู่เสมอ แต่เมื่อเกิดภาวะขาดแคลนไม่มีจะให้กินจะเกิดอะไรขึ้น เหมือนกับคนผอมไขมันที่สะสมไว้ใช้ในยามฉุกเฉินจึงมีน้อย เมื่อไม่มีของกินเข้ามาจึงต้องหยุดการทำงาน ปัญหาจะมีอะไรบ้าง

          1. หลายองค์กรพยายามให้ผู้ส่งมอบหรือ Supplier ลดต้นทุนลงแต่ให้ส่งสินค้าบ่อยครั้งขึ้น ผู้ส่งมอบจึงต้องการ Volume มายขึ้นเพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการบริหารจัดการ จึงได้มีการใช้ระบบ Single Supply เกิดขึ้น เพื่อเพิ่มจำนวนการผลิตให้มากขึ้น โดยทำการขู่ว่าหากไม่สามารถส่งของได้จะถูกตัด Order ไป ซึ่งก็เป็นวิธีการที่ใช้ได้ผล แต่เมื่อเกิดเหตุมหาอุทุกภัยครั้งนี้ ไม่ว่าจะข่มอย่างไรก็ทำการผลิตไม่ได้ เพราะโรงงาน เครื่องจักร พนักงาน จมอยู่ใต้น้ำหมด การส่งมอบจึงเกิดปัญหาทันที

          2. การขาดการหาสินค้าทดแทนหรือสินค้าแบบที่ใกล้เคียงกันไม่เคยได้ถูกตระเตรียมไว้ หาก Supplier เจ้านี้ไม่สามารถส่งของได้ ใครจะเป็นรายที่สอง สาม หรือสี่ เช่นโรงงานฉีดพลาสติก A ผลิตสินค้า ก เกิดน้ำท่วม แม่พิมพ์ที่ผลิตสินค้า ก นี้จะไปผลิตที่ไหน ไปอย่างไร หรือหากวัตถุดิบ A ไม่มีจะใช้อะไรแทน

          3. การลดสต็อกจนผอมมากๆ ทั้งที่มี Safety Stock และ Buffer Stock อยู่แล้วแต่เมื่อเหตุการณ์น้ำท่วมกินเวลายาวนานมาก  ทั้ง Safety และ Buffer จึงไม่เพียงพอ การผลิตจึงเดินหน้าไม่ได้

          4. การใช้ระบบการส่งของที่รับของเป็นชุดๆ จาก Supplier หนึ่งและไปรับต่ออีก Supplier หนึ่ง เพื่อให้สามารถส่งมอบได้เป็นชุดๆ ลดการส่งมอบส่วนเกิน เมื่อเกิดเหตุอุทกภัยเช่นนี้ การวิ่งรถไปรับของในบางสายก็ทำไม่ได้ ระบบการจัดส่งจึงไม่สามารถทำได้ ของบางอย่างถึงผลิตได้แต่ก็ส่งมอบไม่ได้

          5. เรื่องการผลิตเราจะมองแต่แง่ของ Production อย่างเดียวก็คงไม่ได้ แต่ต้องมองในแง่ของพนักงานหรือแง่สังคมด้วย พนักงานต้องการทำงานเพราะตัวพนักงานก็ต้องการเงินที่จะไปใช้ในการฟื้นฟูบ้านของตนเอง จึงต้องการงานแต่เมื่องานที่ทำอยู่ทำไม่ได้ เพราะไม่มีชิ้นส่วนจะผลิต พนักงานก็ต้องหางานใหม่ทำ ความชำนาญในการทำงานจึงไม่มี การทำงานแบบ Multi Skill จึงทำไม่ได้ สุดท้ายต้องย้อนไปที่การผลิตแบบ Mass คือใช้พนักงานทำงานอย่างเดียวแบบเดียวไปก่อน

          6. ในด้านลูกค้า ตอนนี้ลูกค้าซื้ออะไรก็ได้ที่สามารถส่งของได้ ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่นเครื่องซักผ้าที่จมน้ำไป ตอนนี้ท
ุกบ้านที่จมน้ำล้วนต้องการเครื่องซักผ้า ดังนั้น Demand จึงสูงมาก มีรุ่นไหนเอารุ่นนั้น มียี่ห้อไหนเอายี่ห้อนั้น ยี่ห้อไหนต้องรอของนานก็หมดสิทธิขาย การประมาณการณ์การขายจึงเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ในสภาพการณ์แบบนี้ การปรับเรียบการผลิตจึงเป็นไปไม่ได้เช่นกัน

          โลกเรายิ่งจะเจอวิกฤตมากขึ้นทุกวันความเสี่ยงจึงมีมากขึ้นทุกวันเช่นกัน สิ่งที่ระบบ Lean มองแบบอุดมคติจนเกินไป ทำให้เมื่อเจอกับสภาวะวิกฤตจึงรับมือได้ยาก ณ. เวลานี้สิ่งที่ต้องทำเพื่อปิดช่องว่างของระบบ Lean คือเรื่องของระบบ Single Supply ที่ต้องยกเครื่องกันใหม่หมด เรื่องเส้นทางการส่งของที่ต้องพิจารณาเส้นทางกันใหม่ เรื่อง Safety และ Buffer Stock ที่ต้องพิจาณาปรับตัวเลขตามความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น เรื่อง HR ที่จะจัดแรงงานสัมพันธ์ให้ดีให้พนักงานที่มี Skill อยู่กับองค์กรแม้นจะอยู่ในช่วงลำบากก็ตาม 

           จึงถึงเวลาแล้วที่ระบบ Lean จะต้องปรับตัวเสียที เพราะโลกทุกวันนี้อยู่บนความไม่แน่นอน