ไม่ชอบจะไม่ทำ แต่ ถ้าชอบยังไงก็จะทำ?

บทความโดย  : อ.บรรณวิท  มณีเนตร

วันที่ 6 มิถุนายน 2554

 

          ผมเป็นคนหนึ่งที่ชอบขี่จักรยาน

          เสน่ห์ของการขี่จักรยานอยู่ที่การได้ดูวิวข้างทางที่ไปแบบช้าๆ ไม่รวดเร็วเหมือนกับการขับรถ เราจะได้เห็นวิถีชีวิตของคนที่อยู่ตลอดทางของการขี่ ได้สัมผัสกับสายลมที่มากระทบหน้า รู้สึกสดชื่นทุกครั้งที่ได้ออกไปขี่จักรยาน 

          และทุกครั้งที่ออกไปขี่จักรยาน จะหายไปทั้งวันเพราะขี่ครั้งหนึ่งก็ประมาณ 100 กิโลเมตร บางครั้งฝนตก แต่ส่วนใหญ่แดดจะแรงมาก กว่าจะกลับมาบ้านได้ก็อยู่ในสภาพที่สะบักสบอม เสื้อผ้ามอมแมม ปวดเมื่อยไปทั้งตัว หลายคนคงบอกว่า 

          “จะบ้าเหรอ ขี่จักรยานกลางแดด ร้อนก็ร้อน เหนื่อยก็เหนื่อย ตากแดดตัวดำ ไม่เอาด้วยหรอก” แต่ทำไมผมถึงทำ

           พระพุทธเจ้าบอกว่าคนเราจะทำอะไรให้ได้ดีนั้นต้องมี อิทธิบาท 4 คือ

                 ฉันทะ หมายถึง ชอบ คนเราถ้าชอบ ถ้ารักแล้ว หล่ะก็ ทำได้ทั้งนั้น

                 วิริยะ หมายถึง มีความมุ่งมั่นทุ่มเท ในการทำสิ่งที่ชอบ สิ่งที่รักนั้นๆ

                 จิตตะ หมายถึง มีสมาธิ จอจ่อ อยู่กับสิ่งที่ทำนั้นๆ 

                 วิมังสา หมายถึง การใคร่ครวญถึงสิ่งนั้น ว่าจะทำอย่างไรถึงจะออกมาดีกว่าที่เป็นอยู่นี้

          การที่ผมออกไปขี่จักรยานก็เพราะชอบ เมื่อชอบก็ทุ่มเทฝึกซ้อมอยู่เสมอ เมื่อออกไปขี่ก็มีสมาธิจดจ่ออยู่ที่การขี่ไม่วอกแวก หลังจากขี่ก็มาทบทวนว่าวันนี้มีจุดไหนที่มีปัญหา คราวหน้าจะไปขี่ที่ไหนดี จะเห็นว่าผมมีครบใน อิทธิบาท 4 ทั้งหมด

          การที่คนเราจะทำอะไรนั้น ย่อมต้องเกิดจากการที่คนๆ นั้นต้องชอบสิ่งที่ทำก่อนเช่น ถ้าเราจะนำกิจกรรม TPM มาใช้ในโรงงานของเรา เราก็ต้องทำให้พนักงานชอบ TPM ก่อน เมื่อชอบแล้วอย่างอื่นจึงตามมา

          “ปัญหาก็คือ เราจะให้เขาชอบได้อย่างไร?”

          การที่เราจะทำให้เขาชอบก็ต้องเริ่มจากการสร้างทัศนคติทางบวกให้กับสิ่งนั้นๆ ก่อน ถ้าพนักงานยังไม่รู้ว่า TPM คืออะไร เขาจะชอบได้อย่างไร ไม่มีทาง ดังนั้น เมื่อจะเริ่มทำ TPM เราก็ต้องสร้างภาพที่สวยงาม น่าลิ้มน่าลอง ภาพแห่งความสดชื่นในการทำกิจกรรม ภาพแห่งความสำเร็จให้พนักงานรับรู้ และภาพนั้นต้องแรงพอที่จะให้เขารู้ด้วยว่า เป็นเรื่องใหม่ จะทำให้ชีวิตของเขาแตกต่างจากเดิมในทางที่จะทำให้ชีวิตดีขึ้น เป็นการสร้างการรับรู้ใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม

          แต่ถ้าเราทำ TPM ไปแล้ว และตอนนี้ภาพของการทำ TPM ก็ไม่ค่อยดี พนักงานไม่ให้ความร่วมมือจะทำอย่างไร

          เรื่องนี้ไม่ยาก เราก็ออก TPM รุ่นใหม่ จะใช้ชื่อเดิมก็ได้ หรือจะเปลี่ยนชื่อใหม่ก็ได้ แล้วบอกว่าเป็นกิจกรรมที่มาแทน TPM ที่ทำอยู่เดิม แล้วก็โปรโมตใหม่ ให้พนักงานทราบว่ามันไม่ใช่กิจกรรมเดิม ต่อมาก็สร้างกิจกรรมใหม่ให้แตกต่างจาก TPM รุ่นเก่าโดยดูว่าปัญหาของ TPM แบบเก่ามันคืออะไรเช่น ทำยากเราก็ปรับใหม่ให้เป็นกิจกรรมที่ทำง่ายขึ้น การตรวจทำได้ยากเราก็ปรับให้มีการตรวจให้รางวัลหลายๆระดับมากขึ้นเป็นต้น (เรื่องรางวัลก็มีเทคนิคในการให้ด้วยนะ ไว้บทความหน้าจะเล่าให้ฟัง)

          ดังนั้นการสร้างภาพที่ดีของกิจกรรมจะมีผลต่อการให้ความร่วมมือหรือไม่ของพนักงาน เพราะคนไม่ใช่เครื่องจักร รับรู้ได้จากการเปรียบเทียบว่า ดีกว่า แย่กว่า พอๆกัน เราจึงต้องใช้เรื่องนี้มาให้เป็นประโยชน์