Employee Engagement 7

บทความโดย : อ.บรรณวิท มณีเนตร

จากที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด 6 ตอน จะเห็นได้ว่า ความผูกพันกับองค์กรนั้น มีปัจจัยที่ทำให้เกิดขึ้นได้คือ
การรับรู้ว่าองค์กรสนับสนุนพนักงาน
ความยุติธรรมในกระบวนการต่างๆ เช่น การเลื่อนขั้น การขึ้นเงินเดือน ฯลฯ
การสร้างภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กรในสายตาพนักงาน
ซึ่งจะเห็นได้ว่า ปัจจัยต่างๆที่กล่าวมานี้ ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่ผู้บริหารองค์กรหรือ Top Management เป็นผู้สร้างให้เกิดขึ้นในองค์กรทั้งสิ้น ทีนี้เมื่อกล่าวถึงปัจจัยที่ก่อให้เกิดความผูกพันกับองค์กรแล้ว คงต้องกล่าวถึงปัจจัยที่ทำลายความผูกพันกับองค์กรบ้าง
ปัจจัยแรกที่จะกล่าวถึงคือ ความรู้สึกไม่มั่นคงของพนักงาน ปัจจัยนี้คือ เมื่อองค์กรเกิดการเปลี่ยนแปลงเช่น การเปลี่ยนผู้ถือหุ้น การเปลี่ยนผู้บริหารระดับสูง การรวมเข้ากันกับองค์กรอื่นหรือการ Merge องค์กร หรือการแยกตัวออกจากองค์กรเดิม สิ่งเหล่านี้เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น พนักงานย่อมรู้สึกถึงความไม่มั่นคงในการทำงาน รู้สึกหวาดระแวงว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับตัวพนักงานหรือกับตำแหน่งงานของเขาหรือไม่ ทำให้พนักงานรู้สึกผูกพันกับองค์กรน้อยลง ดังนั้นองค์กรส่วนใหญ่เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงในลักษณะเช่นนี้ ก็มักจะออกมาบอกกับพนักงานว่า ทุกอย่างเหมือนเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไร ทุกสิ่งที่ทำอยู่ก็ยังคงเหมือนเดิม เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับพนักงาน
แต่การทำแค่นี้พอหรือไม่!!!
การทำเช่นนี้เป็นการสร้างภาพของการเปลี่ยนแปลงให้รู้สึกว่ามีความเปลี่ยนแปลงน้อยลง แต่ด้วยประสบการณ์ของผมที่เคยอยู่ในองค์กรที่เคยถูกเทคโอเวอร์มาแล้วก็พบว่า พนักงานรับฟังเพียงเท่านั้นยังไม่เพียงพอ เพราะทุกคนรู้สึกว่าตนเองชักจะไม่มั่นคงเท่าไร สิ่งที่พนักงานต้องการนั้นมากกว่าแค่คำพูด คือการแสดงออก ซึ่งนั่นไม่ใช่แค่ตอนที่มีการเปลี่ยนแปลงแล้ว แต่ต้องเป็นตั้งแต่ก่อนการเปลี่ยนแปลง แน่นอนต้องเป็นความลับ แต่เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว ก็ต้องค่อยๆ เปิดให้พนักงานรับรู้ว่า ตอนนี้มีใครเข้ามาร่วมหุ้นบ้าง คนที่จะมาร่วมนั้นเป็นใคร แล้วเขากับเรารวมกันนั้นเพื่ออะไร พนักงานได้อะไรจากการรวมกัน และจะมีผลกระทบอย่างไรต่อพนักงานบ้าง สวัสดิการที่ได้จะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ระหว่างเปลี่ยนแปลงใน 1-2 ปีนี้จะเป็นอย่างไร หลังเปลี่ยนแปลงจะเป็นอย่างไร ควรมี Time Frame ให้ชัดเจน ไม่เช่นนั้นช่วงนั้นพนักงานอาจไหลออกได้ ซึ่งเสียงบประมาณในการฝึกอบรมพนักงานใหม่ให้ทำงานได้ดีเท่าคนเก่าอีก
หรือการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการพัฒนาองค์กรหรือ Organizational Development ก็เป็นอีกประเด็นที่ทำให้พนักงานมีความผูกพันกับองค์กรลดลง เช่นการนำ Re-Engineering เข้ามาทำในองค์กรเพื่อลดการทำงานที่ซ้ำซ้อนของหน่วยงานลง การนำ IT เข้ามาใช้ เช่นการใช้ระบบการลา Online ซึ่งอาจจะดูเหมือนไม่ส่งผลอะไรกับพนักงาน แต่ถ้าพนักงานนั้นเป็นคนที่อายุมากๆ ไม่ถนัดการใช้ IT แล้ว เรื่องนี้ถือว่าใหญ่ทีเดียว ซึ่งพนักงานอายุมากนี้บางคนประสบการณ์สูงจนองค์กรต้องพยายามรักษาไว้
ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงแบบฉับพลันในองค์กร ก็มีผลทำให้พนักงานมีความผูกพันลดลงได้ ครั้งหน้าจะกล่าวถึงปัจจัยอีกตัวหนึ่งที่ทำให้ความผูกพันกับองค์กรลดลงคือ การปล่อยให้มีการคุกคามความปลอดภัยของพนักงาน หรือ Harassment ซึ่งน่ากลัวมากกว่า การเปลี่ยนแปลงในองค์กรเสียอีก