TPM เพื่อการพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืน

บทความโดย : อ.บรรณวิท  มณีเนตร

วันที่ 18 เมษายน 2554

 

           องค์กรมากมายที่นำ TPM หรือ Total Productive Maintenance เข้ามาใช้ในองค์กร ทุ่มเทเวลา ทรัพยากร เงินทอง มากมายลงไปในการทำกิจกรรม ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในองค์กรได้ในเชิงของสภาพของเครื่องจักรที่สะอาด สะอ้าน มีบอร์ดกิจกรรมติดตามสถานที่ต่างๆ บางองค์กรถึงขนาดที่ว่าไปได้รางวัลจากต่างประเทศมาแล้ว แต่ปรากฏว่า 

          “ลงทุนไปกับ TPM มากมาย ผลประกอบการขององค์กรกลับไม่ดีขึ้น”

          “ยิ่งทำ TPM เท่าไร แต่ไม่เคยเห็นกำไรที่มากขึ้น ยอดขายที่สูงขึ้นเลย ต้นทุนที่ลดลง”

          “ใส่แรง ใส่เวลา ใส่พนักงานเข้าไปในกิจกรรมเท่าไร กลับไม่สามารถตอบฝ่ายบัญชีถึงความคุ้มค่าของกิจกรรมที่ทำได้เลย”

          สิ่งเหล่านี้เป็นคำถามที่ผู้บริหารองค์กรมากมายอยากได้คำตอบจากการทำ TPM

          TPM มีปรัชญาว่าต้องการที่จะลดความสูญเปล่า ความสูญเสียต่างๆ ในองค์กรลง แต่ถ้ายิ่งทำ TPM แล้วต้นทุนในการทำงานไม่ดีขึ้น ผลกำไรไม่ได้มากขึ้น นั่นแสดงว่าการทำ TPM ที่ผ่านมานั้นหลงทาง กลายเป็น TPM กลับสร้างความสูญเปล่าให้เกิดขึ้นในองค์กร TPM กลายเป็นภาระมากกว่าเครื่องมือที่ช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น

          หากองค์กรของท่านมีปัญหาเหล่านี้แล้ว ก็คงจะไปโทษที่ TPM ว่าเป็นกิจกรรมที่ดูในทางทฤษฎีแล้วสวยหรู แต่ไม่สามารถนำมาใช้ให้เกิดผลอย่างจริงจังได้ก็คงไม่ได้ แต่ต้องกลับมามองที่วิธีการนำกิจกรรมมาให้ในองค์กรมากกว่าว่า นำ TPM เข้ามาใช้ได้อย่างเหมาะสมหรือไม่

          เปรียบเหมือนกับชาวสวนที่อยากได้มะนาว แต่ไปปลูกมะกรูด ต่อให้ทำนุบำรุงต้องมะกรูดเท่าไร ก็ไม่มีทางที่จะออกผลเป็นมะนาวไปได้

          คนที่จะเลือกปลูกอะไรและอยากได้อะไรก็คือตัวผู้บริหารองค์กรนั่นล่ะที่เป็นคนกำหนด ถ้าผู้บริหารองค์กรต้องการลดต้นทุนด้านวัตถุดิบ แต่ไปเน้นปรับปรุงที่ความเร็วในการผลิต ต่อให้ทำได้ผล ก็จะไม่ส่งผลต่อผลประกอบการขององค์กร 

          นั่นหมายความว่าถ้าผู้บริหารที่ไม่สามารถเชื่อมโยงเป้าหมายขององค์กรไปสู่การปฏิบัติ ตั้งแต่การเชื่อมโยงกลยุทธ์ขององค์กรสู่แผนการดำเนินการ การกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนของแผนการดำเนินการ การกำหนดหรือเลือกเครื่องมือที่เหมาะสมในการทำงานให้บรรลุเป้าหมายของแผนกลยุทธ์นั้นๆ การติดตามแผน การจัดงบประมาณที่เหมาะสมในการดำเนินการแต่ละแผนกลยุทธ์ เมื่อเชื่อมเป้าหมายขององค์กรสู่เป้าหมายของ TPM ไม่ได้ ก็ไม่แปลกที่จะไม่เห็นผลประกอบการที่ดีขึ้น ทั้งที่ทำกิจกรรมไปมากมาย

          ดังนั้นการเชื่อมโยงเป้าหมายขององค์กรเข้าสู้เป้าหมายและแผนงานของ TPM จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะตอบโจทย์ว่าทำ TPM แล้วได้อะไรกลับมาในเชิงธุรกิจบ้าง

          นอกจากนี้การส่งเสริมให้พนักงานทำ TPM จนกระทั่งพนักงานนำเครื่องมือใน TPM เข้าไปสู่การทำงานปกติของพนักงาน ก็เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง การทำ TPM ที่แยกออกจากงานประจำ การไม่นำเครื่องมือต่างๆ ของ TPM เข้ามาใช้ในการทำงานปกติ เป็นสิ่งที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง เพราะเท่ากับเราไม่ได้นำเครื่องมือมาใช้ในการแก้ไขที่เกิดขึ้นในองค์กร เรามัวแต่ทำกิจกรรมไม่ได้ทำเพื่อลดปัญหาในองค์กรที่เกิดขึ้น

          เพราะฉะนั้นไม่แปลกที่ทำ TPM แล้วจะไม่ได้ผลประกอบการที่ดีขึ้น!!!