วางแผนการบำรุงรักษาอย่างไรให้โดนใจผู้บริหาร
บทความโดย : อ.บรรณวิท มณีเนตร
วันที่ 11 มกราคม 2554
แทบทุกองค์กรที่ใช้เครื่องจักร สิ่งหนึ่งที่ต้องมีคือ แผนการบำรุงรักษา แต่วัตถุประสงค์
ของการบำรุงรักษาคืออะไร และการวางแผนการบำรุงรักษาที่ดีควรมีลักษณะอย่างไร?
หลักยึดที่ใช้ในการวางแผนการบำรุงรักษา ส่วนมากที่นิยมใช้กันคือ
1. วางแผนการบำรุงรักษาตามงบประมาณที่ได้รับ (งบมากบำรุงรักษามาก งบน้อยเครื่องก็เสียบ้าง)
2. วางแผนการบำรุงรักษาให้เครื่องจักรไม่เสีย (วางแผนแบบนี้ไม่เคยใช้ได้ เพราะเครื่องก็ยังเสียอยู่)
3. วางแผนการบำรุงรักษาให้ครบทุกเครื่องจักร (งบบานปลาย ช่างงานมาก ทำไม่ไหว)
4. ฯลฯ
จะเห็นว่า หลักในการวางแผนการบำรุงรักษานั้นมีหลายความคิด หลากความเห็น ซึ่งแต่ละคน
ก็มีความเห็นที่แตกต่างกันออกไปแล้วอะไรคือสิ่งที่ถูกต้องที่สุด ก่อนที่จะไปถึงตรงนั้น
ขอให้ตอบคำถามนี้ก่อน
“งานบำรุงรักษามีไว้ทำไม?”
“ใช่แล้ว เพื่อไม่ให้เครื่องจักรเสีย” แต่ “ต้องเครื่องจักรทุกเครื่องที่เรามีอยู่เลยหรือไม่ที่ต้องไม่เสีย”
หลายคนบอกว่า “ไม่ใช่”
ถ้าอย่างนั้น “เครื่องจักรไหนดีหล่ะที่ต้องไม่เสีย”
“ถูกต้อง เครื่องจักรที่สำคัญต่อการทำงานซิ”
ดังนั้นการวางแผนการบำรุงรักษาที่ดีความต้องครอบคลุมในเครื่องจักรที่สำคัญต่อการทำงาน
ของเรา ที่นี้มาตอบคำถามอีกข้อหนึ่ง “เราจะวางแผนการบำรุงรักษาอย่างไรให้เหมาะสม
อะไรควรซ่อม อะไรไม่ควรซ่อม”
นี่คือคำถามสุดคลาสสิกของคนวางแผน
ส่วนมากแล้ว เราจะใช้ข้อมูลในการวางแผนการบำรุงรักษาจากไหน
1. คู่มือเครื่องจักร
2. ประวัติเก่าๆ ที่ผ่านมา
3. ประสบการณ์ของช่าง
แต่สังเกตไหมว่า ถ้าเราใช้ทั้ง 3 อย่างที่กล่าวมาถึงแม้นว่าจะทำได้ดีอย่างไร เครื่องจักร
ก็ยังเสียอยู่ดี เพราะว่า ทั้ง 3 อย่างที่ว่ามานี้ ใช้ข้อมูลจากการเสียที่ผ่านๆ มาในอดีตเป็นข้อมูล ดังนั้น
ถ้าชิ้นส่วนใดไม่เคยเสีย มันจะเสียครั้งแรกทุกที แสดงว่างานบำรุงรักษาของเรานี้ จะเป็นการวางแผน
การบำรุงรักษาแบบตั้งรับคือ รอให้เสียก่อนแล้วค่อยตามไปวางแผนให้มัน ซึ่งเท่ากับว่าเราก็ต้องรอ
จนกว่ามันจะมีปัญหาก่อน นั่นหมายถึง Zero Breakdown ไม่มีทางเกิดขึ้นได้
“ถ้าอย่างนั้นเราควรทำอย่างไรกับการวางแผนการบำรุงรักษาดี?”
RCM หรือ Reliability Center Maintenance คือเครื่องมือที่จะตอบคำถามนี้ เพราะ RCM
เน้นการวางแผนการบำรุงรักษาในเชิงรุกคือ คิดจากผลกระทบของการเกิดปัญหาว่ามีแนวโน้มอย่างไร
แล้วนำข้อมูลที่ได้มาการวางแผน ดังนั้น RCM จึงไม่รอให้เครื่องจักรเสียซะก่อน แต่จะวางแผนก่อน
ที่จะเสีย อีกทั้งในขั้นตอนการทำ RCM ยังสามารถทำให้เราวางแผนการบำรุงรักษาได้อย่างเหมาะสม
ไม่มาก และไม่น้อยจนเกินไป เพื่อทำให้งบประมาณในการบำรุงรักษาสามารถใช่ได้
อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และสามารถป้องกันการเสียของเครื่องจักรได้อย่างดีที่สุด
นั่นเท่ากับว่าองค์กรไหนใช้ RCM องค์กรนั้นกำลังเข้าสู่ Zero Breakdown โดยใช้งบประมาณน้อยที่สุด