เนื้อหา
บทความโดย : อ.บรรณวิท มณีเนตร
วันที่ 6 พฤศจิกายน 2552
ความหมายของความน่าเชื่อถือ
(What is Reliability?)
เราคงเคยได้ยินถึง Reliability หรือ ความน่าเชื่อถือ กันบ่อยครั้ง แต่ความน่าเชื่อถือนั้นมีความหมายว่าอะไร และจะนำมาใช้ในงานบำรุงรักษาได้อย่างไร
ความน่าเชื่อถือ หมายถึง โอกาสที่อุปกรณ์นั้นๆ จะทำงานได้ตามหน้าที่ที่กำหนดไว้ภายในระยะเวลาที่กำหนด ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด (Anthony M. Smith & Glenn R. Hinchcliffe)
จากคำนิยามข้างต้น คำสำคัญมี 3 คำ คือ หน้าที่ที่กำหนด ในเวลาที่กำหนด เงื่อนไขที่กำหนด เราสามารถอธิบายได้ดังนี้
หากเรากำหนดว่าหน้าที่ของรถคือวิ่งไปส่งเราที่ที่ทำงานในเวลา 30 นาที การที่รถแอร์ไม่เย็นก็จะไม่ใช่หน้าที่ที่ต้องการจากรถ ดังนั้นโอกาสที่เราพูดถึงจึงเป็นโอกาสที่รถจะวิ่งได้ แต่การที่แอร์จะไม่เย็นนั้นจะไม่ใช้หน้าที่เราสนใจ (หน้าที่)ในทางกลับกัน ถึงแม้นจะวิ่งได้แต่ถ้าพาเราไปช้ากว่าที่กำหนดไว้ก็ถือว่าทำหน้าที่ได้ไม่สมบูรณ์อีกเช่นกัน
1. หากเราพูดถึงโอกาสที่รถยนต์จะวิ่งได้โดยที่ไม่เสียเลยใน 1 วันอาจมีโอกาสม าก แต่โอกาสที่รถยนต์จะวิ่งได้โดยไม่เสียใน 3 ปี อาจน้อยลง (เวลาที่กำหนด)
2. หากเรานำรถไปวิ่งในกรุงเทพที่รถติดจอดแช่นานๆ กับวิ่งที่ต่างจังหวัดที่ความเร็วคงที่ ก็จะทำให้โอกาสที่รถจะวิ่งไม่ได้แตกต่างกัน
ดังนั้น ความน่าเชื่อถือจึงขึ้นกับปัจจัยสามอย่าง ตามที่กล่าวมาข้างต้น
ความน่าเชื่อถือสูง จึงหมายถึง มีโอกาสสูงที่อุปกรณ์นั้นๆ จะทำงานได้ตามหน้าที่ที่กำหนด ภายในเวลาที่กำหนด ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดไว้ ความน่าเชื่อถือต่ำจึงหมายถึงโอกาสที่น้อยนั่นเอง
หากจะกล่าวถึงความน่าเชื่อถือของเครื่องจักรโดยนัยนี้เราจะพบว่า ความน่าเชื่อถือของเครื่องจักรนั้นสนใจที่การทำหน้าที่ของเครื่องจักรไม่ใช้สนใจว่าเครื่องจักรจะเสียหรือไม่เสีย เพียงแค่ไม่ทำตามหน้าที่ที่กำหนดไว้ ก็ถือว่าไม่มีความน่าเชื่อถือแล้ว
ดังนั้นแนวคิดของการบำรุงรักษาที่ดีจึงไม่ใช่แค่ทำให้เครื่องจักรไม่เสีย แต่ต้องพิจารณาถึงว่าทำให้เครื่องจักรทำหน้าที่ได้ตามที่กำหนดมากกว่า
การบำรุงรักษาโดยยึดความน่าเชื่อถือเป็นศูนย์กลางหรือ Reliability Centered Maintenance (RCM) จึงเป็นการกำหนดวิธีการบำรุงรักษาที่เหมาะสมเพื่อให้อุปกรณ์นั้นๆ มีโอกาสที่สูงขึ้นในการที่จะทำงานได้ตามหน้าที่ที่กำหนด ภายในเวลาที่กำหนด ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด
การบำรุงรักษาโดยยึดความน่าเชื่อถือเป็นศูนย์กลางนี้จึงเป็นวิธีการวางแผนการบำรุงรักษาที่มีความนิยมอย่างสูงในหมู่นักวางแผนการบำรุงรักษาที่เน้นการบำรุงรักษามากกว่าการซ่อม