การสร้างจิตสำนึกรักองค์กร ตอนที่ 1

บทความโดย : อาจารย์บรรณวิท  มณีเนตร

วันที่ 19 มิถุนายน  2555

มีหลายบริษัท ได้ติดต่อให้เข้าไปบรรยายเรื่อง “จิตสำนึกรักองค์กร” ให้พนักงานฟังหน่อย ซึ่งโดยปกติแล้ว ผมมักที่จะถามถึงวัตถุประสงค์ของการอบรมก่อนเสมอว่า จะอบรมไปเพื่ออะไร จะเป็นอย่างไรและต้องการผลที่ออกมาจากการอบรมอย่างไร เพื่อที่จะได้จัดการอบรมให้ได้อย่างถูกต้อง

คำตอบที่ได้คือ ต้องการให้พนักงานรักองค์กร ทุ่มเทการทำงานให้กับองค์กรอย่างเต็มความสามารถ ไม่อยากให้เกิดการทุจริตในองค์กร ให้คิดว่าองค์กรเป็นบ้านที่สองของพนักงาน ให้ทำงานกันเป็นทีม มีการสื่อสารกันที่ดี พนักงานเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ขององค์กรเช่นเขียนข้อเสนอแนะ ฯลฯ

ทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ดีที่น่าจะอบรมให้กับพนักงานอย่างยิ่ง

ดังนั้นผมจึงถามกลับไปอีกครั้งว่า “แล้วองค์กรทำอะไรให้พนักงานเขารักบ้างหรือเปล่าล่ะ” คำตอบที่ได้คือ … (เงียบ)

หรือไม่ก็บอกว่า เราก็มีเงินเดือน มีสวัสดิการรถรับส่ง มี OT ให้พนักงานทำตลอด แต่พนักงานก็ไม่รักองค์กรเลย บอกให้เขียนข้อเสนอแนะก็มักจะถามว่า เขียนแล้วได้กี่บาท หนักเข้าบางคนบอกว่า พนักงานที่บริษัท อู้ได้เป็นอู้ หลบได้เป็นหลบ เลี่ยงงาน ขาดงานบ่อย

แต่พวกเราคงเคยได้ยินว่า “เรื่องของความรัก เป็นเรื่องของคนสองคน” เรื่องรักองค์กรก็เช่นเดียวกัน การที่พนักงานจะรักองค์กรหรือไม่นั้นไม่ได้เกิดจากตัวพนักงานอย่างเดียวแต่เกิดจากตัวองค์กรที่พนักงานทำงานอยู่ด้วย หรือที่เรียกว่า เป็นปฏิสัมพันธ์กันระหว่างนายจ้างหรือองค์กรกับพนักงาน

หากเราบอกว่าเรามีเงินเดือน มีสวัสดิการ มี OT แค่นี้ไม่พอหรือ คำตอบคือ ไม่พอ

ทำไมจึงไม่พอ อย่าลืมว่า คนเราทำงานนั้นไม่ใช่เพื่อเงินอย่างเดียว ผมมีเรื่องเล่าให้ฟัง มีนายจ้างท่านหนึ่งจ้างคนสวนมาคนหนึ่งโดยให้ค่าแรงเป็นรายวัน แล้วก็ให้คนสวนทำการขุดดินขนาด 5 เมตร คูณ 5 เมตร ลึก 1 เมตร บอกเพียงเท่านี้ก็ไป เมื่อขุดเสร็จคนสวนก็ถามว่าจะให้เอาต้นอะไรมาปลูก นายจ้างก็ตอบว่า “ไม่ต้องการปลูกอะไร” ว่าแล้วก็สั่งให้กลบดินที่ขุดขึ้นมากลับไป

คนสวนคิดว่า คงจะย้ายหลุมไปที่อื่น แต่กาลกลับไม่เป็นเช่นนั้น

เมื่อคนสวนกลบดินใส่หลุมเสร็จ คนสวนก็ถามอีกว่า “จะทำอะไรต่อ” นายจ้างคนนั้นก็ตอบว่า “ให้ขุดหลุม” ว่าแล้วก็สั่งให้ขุดหลุมเดิมกลับขึ้นมาใหม่ เมื่อขุดเสร็จคนสวนก็ถามว่า “จะให้ทำอะไรอีก” นายจ้างก็บอกว่า “ให้กลบหลุมกลับไปใหม่”

เมื่อคนสวนได้ยินดังนี้ก็รู้สึกโมโห แล้วว่า “ขุดเสร็จก็ให้กลบ กลบเสร็จก็ให้ขุด จะเอายังไงกันแน่” ถ้าจ้างมาทำอย่างนี้ ไม่ทำดีกว่า”

นายจ้างก็ว่า “ทำไมถึงไม่ทำ ฉันจ่ายค่าแรงเธอนะ”

คนสวนตอบว่า “ไม่เห็นมีอะไรเลย ขุด ขุด กลบ กลบ จะปลูกอะไรก็ไม่ปลูก ทำอย่างนี้มันแกล้งกันนี่หว่า”

ทำไมคนสวนจึงตอบเช่นนั้น ทั้งที่ได้ค่าแรงนะ ในเมื่อจ่ายค่าแรง บอกให้ทำอะไรก็ทำไปซิ  คิดอย่างนี้คงจะไม่ได้ เพราะคนเราไม่ได้ทำงานเพราะค่าแรงอย่างเดียว เราทำงานเพราะว่างานที่เราทำนั้นมันมีความหมาย มีคุณค่าบางอย่าง ไม่ใช่ในทางเศรษฐกิจ ก็ทางสังคม ไม่ใช่ทางวัตถุก็ต้องทางจิตใจบ้าง ไม่เช่นนั้นเราจะเห็นคนกวาดถนนหรือ เรามองว่างานเขาไม่มีความหมายแค่กวาดถนนแต่จริงๆ แล้วลองไปถามเขาดูซิว่า “งานกวาดถนนนี้สำคัญอย่างไร” คุณจะได้คำตอบที่ไม่น่าเชื่อ บางคนตอบได้ถึงขนาดว่า “หากไม่กวาดถนนแล้ว บ้านเมืองจะสวยได้อย่างไร ไม่กวาดวัดเดียวก็รกจะแย่แล้ว”

นั้นคือความสำคัญของความหมายของงานที่ทำ เราอยากให้พนักงานรักองค์กร ง่ายๆ เราเคยบอกเขาหรือไม่ว่างานที่เขาทำนั้นสำคัญต่อองค์กรอย่างไร สำคัญต่อสังคมอย่างไร สำคัญต่อคนอื่นๆ อย่างไร

แล้วการที่จะสื่อสารให้พนักงานทราบว่างานที่เขาทำถึงแม้นจะเป็นงานแม่บ้าน ก็มีความสำคัญกับองค์กรนั้น เป็นหน้าที่ของใคร คำตอบก็คงชัดเจน ว่าเป็นหน้าที่ของหัวหน้างานที่จะสื่อสารทางบวกกับพนักงานกับลูกน้อง

แต่หัวหน้างานในบ้านเราส่วนใหญ่ไม่เป็นเช่นนั้น แค่ไม่เคยที่จะสื่อสารกับพนักงานกับลูกน้องว่างานทีทำนั้นสำคัญอย่างไร กลับไปสื่อสารในทางลบเสียอีก เช่น “บริษัทเอาเปรียบเราทุกทาง แค่ลาชั่งโมงเดียวตัดเบี้ยขยันไปเลย” หรือ “ระวังนะ ลางานแบบนี้ บริษัทเขาไม่ยอมนะ อั๊วเคยมาแล้ว” เป็นต้น

จิตสำนึกรักองค์กรจึงเป็นเรื่องที่ควรปลูกฝัง แต่ในฐานะของที่ปรึกษา ผมก็คงต้องบอกว่า คนที่น่าจะต้องปลูกฝังมากที่สุดเลยคือหัวหน้างานคือผู้จัดการ ไม่ใช่พนักงาน เพราะพนักงานเขาก็ทำตามหัวหน้างานทั้งนั้น หากหัวหน้างานหรือผู้จัดการดีมีทัศนคติทางบวกลูกน้องก็ดีเอง