เราทราบแล้วว่า ความสูญเสียหลักมี 16 ประการ ทุกบริษัทมีเหมือนกันหมด เพียงแต่สัดส่วน ของความสูญเสียที่เกิดขึ้นนั้น ไม่เท่ากัน บางแห่งอาจมีความสูญเสียบางอย่าง มากกว่าบางอีกแห่ง แต่ธรรมชาติของความสูญเสียนี้ ไม่เกิดขึ้นอย่างที่เป็นเอกเทศ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ความสูญเสียไม่เกิดขึ้น เพียงความสูญเสียเดียวเท่านั้น โดยปรกติแล้ว เมื่อเกิดความสูญเสียอย่างหนึ่ง จะเกิดความสูญเสียอย่างอื่นๆ ตามมาเสมอ เช่น หากเครื่องจักรที่เราใช้งานนั้น เกิดความเสียหายขึ้น ไม่สามารถที่จะทำงานได้ เราจะเกิดความสูญเสียที่เกิดจาก เครื่องจักรเสียเกิดขึ้น เมื่อซ่อมเสร็จก็เดินงานได้ ตอนที่จะเริ่มเดินเครื่องใหม่นั้น เราก็จะมีความสูญเสีย ที่เกิดจากการเริ่มต้น เดินเครื่องขึ้นมา และเมื่อเดินเครื่องจักรใหม่ๆ ก็จะต้องเริ่มเดินที่ความเร็วต่ำก่อน แล้วจึงจะเร่งเครื่องไปที่ความเร็วที่ต้องการ จนกลับเข้าสู่สภาวะปรกติ นั้นคือเกิดความสูญเสีย ที่เกิดจากความเร็ว ไม่ได้ตามที่กำหนดอีก
เรามาพิจารณาลงไปอีก ในกลุ่มความสูญเสีย ที่เกี่ยวกับแรงงานบ้าง หากพิจารณาในภาพที่ 1 จะเห็นว่าเมื่อเครื่องจักร เสียไปแล้วนั้น พนักงานที่เดินเครื่องนั้น ก็จะเกิดการไม่ได้ทำการผลิต เนื่องจากต้องรอเครื่องจักร ให้ทำการซ่อมให้เสร็จก่อนนั้น ก็จะเกิดความสูญเสีย ที่เกิดจากการบริหารจัดการขึ้น ไม่เพียงแต่พนักงานผู้ที่เดินเครื่องนั้น เพียงคนเดียว หากสายการผลิตเป็นการผลิต แบบต่อเนื่อง พนักงานทุกคน ในการการผลิตนั้น ต้องหยุดรอทั้งหมด ความสูญเสียก็จะเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ
เรามาพิจารณา ในกลุ่มการใช้พลังงานบ้าง หากสายการผลิตของเรานั้น มีการใช้เตาอบ จะเห็นว่าเมื่อเครื่องจักรเสียไป สายการผลิตหยุดลง แต่เตาอบไม่สามารถหยุดได้ ยังคงต้องเดินต่อไป เพื่อรักษาอุณหภูมิไว้ เพื่อที่จะรองรับกับการผลิต ที่จะเกิดขึ้นหลังจากที่ซ่อม เครื่องจักรเสร็จแล้ว ในช่วงเวลาดังกล่าวถึงแม้นว่า จะใช้พลังงานน้อยลง แต่อย่าลืมว่าเราไม่มีผลิตภัณฑ์ ที่ผลิตออกมาเป็นการเดินเครื่องตัวเปล่า ซึ่งเป็นความสูญเสีย อีกทั้งยังมีความสูญเสีย เรื่องของใช้พลังงานร่วมด้วยอีก เพราะพลังงานถูกใช้ไป โดยไม่มีการผลิตของออกมา
ดังนั้นจะเห็นว่า ความสูญเสียที่เกิดขึ้น เพียงอย่างเดียวจะส่งผล ให้เกิดความสูญเสียอย่างอื่น ตามมาอีกอย่างมากมาย ในทางตรงกันข้าม หากเราสามารถลดความสูญเสียลงไปได้ แม้นเพียงอย่างเดียว เราก็สามารถที่จะลดความสูญเสียต่างๆ ลงมาได้อย่างมากเช่นกัน
การลดความสูญเสีย
เป็นที่ทราบแล้วว่า ความสูญเสียนั้น ก่อให้เกิดผลที่ไม่ดีต่อองค์กรอย่างไร เราจึงต้องหาทางที่จะขจัด หรือว่าลดความสูญเสียนั้นๆ ลงให้ได้ คำถามจึงมาลงที่ว่า ใครควรต้องเป็นผู้มีหน้าที่ ในการหาทางลดความสูญเสียลง การที่จะบอกว่าเป็นหน้าที่ของใครนั้น ก็คงต้องดูความรับผิดชอบกันก่อน โดยปรกติการเดินเครื่องจักรนั้น เป็นหน้าที่ของพนักงานฝ่ายผลิต เมื่อเครื่องจักรเกิดปัญหา ก็จะเป็นหน้าที่ ของฝ่ายซ่อมบำรุง ดังนั้นเมื่อเครื่องจักร มีปัญหาเกิดขึ้นไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใดก็ตาม ฝ่ายผลิต และฝ่ายซ่อมบำรุง ก็คงหนีความรับผิดชอบนี้ ไปไม่ได้ ฝ่ายวิศวกรรมที่เป็นผู้ออกแบบ ติดตั้งเครื่องจักรถึงแม้นว่า จะส่งมอบเครื่องจักร กับทางฝ่ายผลิตไปแล้ว แต่อย่าลืมว่าความเสียหายบางอย่าง ก็เกิดจากการออกแบบเครื่องจักร ที่ไม่เหมาะสมด้วย ดังนั้นฝ่ายวิศวกรรม ก็จะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้เช่นกัน และในการผลิตนั้นหากมีของเสียเกิดขึ้น ฝ่ายควบคุมคุณภาพ คงต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา แต่ก็ต้องยอมรับว่า การที่ผลิตของเสียออกมาได้นั้น เป็นเพราะการไม่สามารถรักษา ความสามารถของกระบวนการผลิตเอาไว้ได้ จึงได้เกิดของเสียเกิดขึ้น ผู้บริหารก็ต้องมีส่วน ในการที่จะขจัดความสูญเสียลง เนื่องจากเป็นผู้ที่สามารถ ชี้นำสั่งการต่างๆ ได้ หากแม้นพนักงานพบความสูญเสีย เกิดขึ้นในโรงงาน แต่ผู้บริหารเพิกเฉยต่อความสูญเสียนั้นๆ ก็ไม่มีทางที่จะลงความสูญเสียนั้นๆ ลงไปได้ จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าใครก็ตาม ที่เกี่ยวข้องกับโรงงาน ก็ย่อมมีส่วนที่จะลดความสูญเสียต่างๆ ลงด้วยกันทั้งสิ้น หากจะชี้ชัดลงไปนั้นก็คือ การลดความสูญเสียต่างๆ นั้นเป็นหน้าที่ ของทุกคนในองค์กร