ช่วยที เจอ “ลูกน้องห่วยขั้นเทพ”

บทความโดย อาจารย์ปกรณ์  วิญญูหัตถกิจ

วันที่ 7 เมษายน 2554

          หัวหน้างานหลายคนอาจเคยเจอลูกน้องที่ทำงานไม่เป็นสับปะรด สวนทางกับตอนสัมภาษณ์ที่ลูกน้องดูดี บอกว่าทำได้ทุกอย่าง พร้อมจะเรียนรู้ หนักเอาเบาสู้ แบบนี้เป็นเรื่องปกติครับ คล้ายๆ กับความแตกต่างของรูปเราตัวจริงกับรูปเราในเฟซบุ๊คที่มุมกล้องช่วยได้เยอะ

          แต่ที่ไม่ปกติ คือ ทางออกในการแก้ปัญหาของหัวหน้างานแต่ละคนนี่สิครับ 

หัวหน้างานบางคนอาจเลือก “ไล่ออก” และจ่ายค่าชดเชยให้ ด้วยเหตุผลง่ายๆ คือ “ลูกน้องห่วยขั้นเทพ” วิธีนี้ไม่ผิดครับ ถือว่าเสียเงินวันนี้เพื่อรักษาประโยชน์ขององค์กรในวันหน้า  อย่างมากลูกน้องคนนั้นก็เอาไปบ่นกับเพื่อนว่า “หัวหน้าโหดขั้นเทพ”

          อันที่จริง “ไล่ออก” เป็นวิธีที่ง่าย แต่อาจสะท้อน “ระบบที่ไม่ดี” ขององค์กร

          ระบบที่ดีต้องทำให้ทั้งคนโง่และคนฉลาดทำงานที่ดีได้  การไล่ออกบ่อยๆ จึงบ่งบอกว่าระบบขององค์กรมีปัญหา 

องค์กรก็เหมือนทีมฟุตบอล ทีมที่ดีต้องมีระบบปั้นผู้เล่นดาวรุ่งขึ้นมาเรื่อยๆ เพราะการกว้านซื้อนักเตะชื่อดังมาร่วมทีมตลอดถือเป็นต้นทุนที่สูงมาก 

          คราวนี้มาดูว่าถ้าไม่ไล่ออก แล้วหัวหน้างานควรทำอย่างไร?

          ถ้าองค์กรมีระบบการพัฒนาคนที่ห่างไกลกับคำว่า “ดี”  หัวหน้างานก็ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน  เราใช้หลักทางพุทธง่ายๆ ครับ “ผลย่อมเกิดจากเหตุ” เราก็ต้องดูว่าเหตุใดลูกน้องจึงห่วยขั้นเทพปกติแล้วปัญหาด้านประสิทธิภาพการทำงานของคน เกิดจาก 2 สาเหตุหลักครับ 

          สาเหตุแรก คือ ลูกน้องทำไม่ได้ (Can’t do) เช่น งานยากเกินความรู้ของลูกน้อง ลูกน้องยังจับจุดงานไม่ถูก

          ปัญหานี้เกี่ยวข้องกับความชำนาญ (Skill Problem) เราต้องแก้ไขโดยพยายามฝึกสอนงานให้ เช่น ส่งไป Train ความรู้ที่เกี่ยวข้อง หรือหาคนที่เก่งงานคอยสอนงานเป็นพิเศษอยู่พักหนึ่ง  แต่ลูกน้องก็ต้อง “จัดเต็ม” ให้เราด้วยนะครับ  ถ้ายังอิดออด แสดงว่ามีสาเหตุที่สองซ่อนอยู่

          สาเหตุที่สอง คือ ลูกน้องไม่ทำงาน (Won’t do) ชอบอู้งาน ส่วนมากเกิดจาก “ไม่มีใจทำงาน” เลยใส่เกียร์ว่าง 

          ปัญหานี้เกี่ยวข้องกับแรงจูงใจ (Motivation Problem) เราต้องแก้ไขโดยสร้างแรงจูงใจให้ลูกน้อง ปัญหานี้ถือว่าซับซ้อนครับ เพราะมีสาเหตุแฝงอีกร้อยแปดพันเก้าที่ทำให้ลูกน้องขาดแรงจูงใจทำงานเช่น เงินเดือนขึ้นน้อยก็ห่อเหี่ยว (เลยเริ่มเข้าไปประจบเจ้านาย) เพื่อนร่วมงานได้โปรโมตข้ามหัวก็เซ็ง (เลยเริ่มเลื่อยขาเก้าอี้เพื่อน) ทำงานซ้ำไปเรื่อยๆ ก็เบื่อ (เลยเริ่มโบ้ยงานคนอื่น)อันนี้หัวหน้างานต้องสังเกตครับ  แล้วค่อยๆ แก้ไปทีละปม  มีเครื่องมือในการสร้างแรงจูงใจอยู่มากมาย  แต่ถ้าใช้ไม่ถูกกับปัญหาก็เหมือนกินยาผิดโรค

บางทีเห็นพนักงานขายเนือยๆ ทำยอดไม่เคยถึง หัวหน้างานเลยส่งไป Train คอร์สกระตุ้นแรงจูงใจ  แต่จริงๆ ลูกน้องอาจจะไม่พอใจวิธีแบ่งลูกค้า เพราะรายใหญ่ๆ ไปอยู่กับคนอื่น หรือไม่พอใจวิธีคิดค่าตอบแทนก็ได้

ดังนั้นปัญหาแรงจูงใจ เราต้องแก้ไขโดยเริ่มจับเข่าคุยกับลูกน้องก่อน ถ้าเรารู้ความต้องการของลูกน้อง แก้ถูกจุด ซื้อใจลูกน้องได้ ประสิทธิภาพงานจะตามมาเอง

          เห็นมั้ยครับ มีทางออกมากมายในการแก้ปัญหาที่ไม่ต้อง “ไล่ออก”

          ต่อไปเราก็สร้าง “ลูกน้องเก่งขั้นเทพ” ได้แล้วนะครับ