สำนวนที่ว่า “ ทำให้ถูกเสียแต่ที่แรก ” คงตรงกับกิจกรรมมากที่สุด หัวใจสำคัญของกิจกรมมนี้ เป็นกิจกรรม ที่จะทำให้เรารู้จักการดำเนินการ เพื่อป้องกันปัญหาเดิม ที่เราพบอยู่ให้หายไป หรือลดลงไปให้ได้ตั้งแต่ตอนที่เริ่มต้น
กิจกรรมนี้จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนด้วยกันคือ

7.1 การออกแบบเครื่องจักร (Machine Design)

7.2 การออกแบบผลิตภัณฑ์ (Product Design)

การออกแบบเครื่องจักรนั้น เราจะพบว่า จากเครื่องจักรเดิมของเราที่มีอยู่นั้น เราอาจพบว่าเป็นเครื่องจักร ที่ทำการบำรุงรักษาได้ยาก ชิ้นส่วนก็สึกหรอเร็ว การปรับตั้งก็ทำได้ยาก หากเราเริ่มต้นได้ใหม่ เราซื้อเครื่องใหม่ได้ เราคงต้องนำเอาบทเรียนเก่าๆ ที่มีอยู่ว่าเครื่องจักรใหม่ของเรา ต้องเป็นอย่างไร อะไหล่ที่ช่างของเราซ่อมเองได้นั้น เป็นยี่ห้อใด เราต้องการให้ชิ้นส่วนใดเป็นอย่างไร ต้องปรับแต่อะไรได้บ้าง และส่งข้อมูลนี้ ไปให้กับผู้ที่ผลิตเครื่องจักรให้เรา ทำการปรับปรุงแก้ไขให้ ตั้งแต่ตอนที่เราซื้อเครื่อง ข้อมูลต่างๆนี้มาจาก ผลของการทำกิจกรรม AM และ PM, การทำการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง, QA Matrix เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อไปสู่เครื่องจักร ที่ไม่ต้องมีการบำรุงรักษา และสามารถใช้งานได้งาน และต้นทุนตลอดอายุการใช้งานต่ำที่สุด ลองนึกย้อนไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว รถยนต์ต้องมีการอัดจารบีล้อเป็นประจำ แต่ตอนนี้ ลูกปืนล้อไม่ต้องมีการอัดจารบีอีกต่อไป ทำให้การใช้งานง่ายขึ้น และต้นทุนในการบำรุงรักษาต่ำลง และยังต้องเป็นเครื่องจักร ที่เมื่อหลังจากที่ติดตั้งแล้ว สามารถทำการผลิตที่ประสิทธิภาพสูงสุด ได้อย่างรวดเร็วที่สุดหลังติดตั้ง เพื่อให้เราลดต้นทุนในการผลิตให้ต่ำที่สุดได้

การออกแบบผลิตภัณฑ์ เป็นอีกหัวข้อหนึ่งของกิจกรรมนี้ แนวคิดคือ เราต้องทำการออกแบบผลิตภัณฑ์อย่างไร เพื่อให้ถูกใจลูกค้า ในขณะเดียวกัน ก็สามารถทำการผลิตได้อย่างรวดเร็ว ผลิตได้ง่าย ผลิตแล้วใช้วัสดุน้อยลง เพื่อให้เกิดการผลิตที่ต้นทุนต่ำที่สุด

กิจกรรมนี้ เป็นกิจกรรมที่ต้องใช้ความร่วมมือ และความเห็นจากทุกส่วน ทุกฝ่ายจึงจะประสบความสำเร็จได้ ดังนั้นทีมงานที่จะดำเนินการ ต้องเก็บรวบรวมข้อมูลไว้ตั้งแต่เริ่มทำกิจกรรมอื่นๆ มาทั้งหมดแล้วนำมาประมวลผลอีกครั้ง