Q1) การทำ TPM ต่างจากการทำ การบำรุงรักษาทั่วไปอย่างไร?

Answer) วัตถุประสงค์ของ TPM ต้องการให้เกิด 3 ศูนย์ คือ เครื่องเสียเป็นศูนย์ อุบัติเหตุเป็นศูนย์ ของเสียเป็นศูนย์ ซึ่งอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทุกแผนก พร้อมทั้งการให้การสนับสนุน จากผู้บริหารทุกระดับ จากบนสุดถึงพนักงานระดับล่าง และใช้กลุ่มย่อยเป็นหลักในการดำเนินการ จากความหมายของ TPM การดำเนินการ TPM จึงทั้งลึก และกว้างกว่าการบำรุงรักษาธรรมดา ที่ต้องการเพียงแค่ ทำไปตามคาบเวลาที่กำหนดไว้เท่านั้น การบำรุงรักษาโดยทั่วไป จะเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่ง ในการดำเนินการของ TPM เพื่อให้เกิดเครื่องเสียเป็นศูนย์เท่านั้น

Q2) ทำไมต้องทำ TPM

Answer)  หากหน่วยงานของท่าน เป็นงานที่ขายได้โดยไม่ต้องแข่งขัน ก็ไม่แนะนำให้ทำ TPM เพราะจะเป็นการเสียเวลาเปล่า เอาเวลาที่มี ไปใช้ในการผลิตดีกว่า แต่หากท่านเป็นหน่วยงานที่มีการแข่งขัน ก็เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อให้พนักงานทุกคน หันกลับมามองที่ปัจจุบันตรงหน้าของพนักงานคือ เครื่องจักรว่ามันสามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ แล้วหรือยัง หากยังจะทำอย่างไรให้ใช้งานได้เต็มที่ และที่สำคัญคือการให้พนักงาน ที่เป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุด ได้มีโอกาสพัฒนา เป็นผู้ที่มีความสามารถมากขึ้น และกลับมาพัฒนางานที่ตนเองทำ และบริษัทฯ ให้ดีขึ้นตามมา การดำเนินการของ TPM นั้นเน้นที่หน้างานที่พนักงาน ทำงานให้มีสภาพที่ดีขึ้น และเน้นจากภายในองค์กรไปสู่ภายนอก

Q3) ถ้าจะทำ TPM จะเริ่มที่ไหน

Answer)  เริ่มผู้บริหารสูงสุดที่นั่งอยู่ที่บริษัทฯ เพราะไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม หากผู้บริหารสูงสุดเข้าใจ เอาจริง เอาจัง ก็สำเร็จหมด แต่ถ้าไม่เอาไม่เข้าใจ และมีแต่ คุณ-นะ-ทำ ก็แทบไม่มีโอกาสประสบความสำเร็จ หากผู้บริหารต้องการทำ ต่อมาก็ต้องเริ่มที่หน่วยงานช่าง เพราะถ้าหน่วยงานนี้เข้าใจว่า การที่ทำ TPM จะเป็นการช่วยให้ช่างทำงานเบาลง เพราะงานบางอย่าง จะถูกส่งไปให้พนักงานคุมเครื่องทำ และช่างต้องเปลี่ยนมาทำงาน ในลักษณะที่เป็นงานวางแผนมากขึ้น เป็นการสอนงานมากขึ้น ก็จะสามารถดำเนินการได้ เพราะถ้าช่างยังคิดว่าพนักงานผลิต ชอบทำเครื่องเสีย เดินเครื่องไม่ถูกต้อง พนักงานเดินเครื่องไม่ฉลาดพอ ก็จะทำให้ช่างไม่อยากถ่ายทอดความรู้ไปให้พนักงานเดินเครื่องได้ เพราะทัศนคติที่ผิดนี้ การเริ่มที่พนักงานผลิต จะไม่ใช่เรื่องยากหากช่างช่วยในการแนะนำ และพร้อมที่จะเป็นผู้ฟูมฟัก (Mentor) ให้พนักงานเดินเครื่องให้ทำงานได้อย่างถูกต้อง

Q4) ถ้าจะทำแต่ AM อย่างเดียวได้ไหม ไม่อยากทำเสาหลักอื่น

Answer)  วัตถุประสงค์คืออะไร ถ้าต้องการได้รับการรับรองว่าทำ TPM ก็ไม่ได้ ต้องทำทุกเสาหลัก แต่ถ้าต้องการการเปลี่ยนแปลงในองค์กร เพื่อให้พนักงานเดินเครื่อง มีส่วนร่วมในการช่วยแก้ปัญหา ก็ไม่ได้มีข้อห้ามใดกำหนดไว้ แต่เมื่อทำไปแล้วจะพบว่า เสาหลักอื่นจะขึ้นมาเอง เช่น เมื่อทำ AM ไปได้สักระยะหลังจากที่ติด Tag ไป ก็ต้องการปลด Tag และไม่อยากให้ปัญหาเดิมกลับมาเกิดขึ้นอีก ก็ต้องมีการบำรุงรักษาตามคาบเวลา ซึ่งนั่นก็คือ Planned Maintenance และหากทำไปเรื่อยๆ เริ่มมี Idea ที่จะทำการปรับปรุง โมดิฟายด์เครื่องจักนั่นก็คือ Focus Improvement นั่นเอง ซึ่งถ้าจะบอกว่าไม่ทำ ก็ได้ แต่ในความเป็นจริงก็ต้องทำอยู่ดี

Q5) Tag ติดที่ไหนได้บ้าง

Answer)  Tag คือป้ายที่เรานำไปติดไว้ เพื่อชี้บ่งปัญหาที่เกิดขึ้น ดังนั้น Tag ควรนำไปติดไว้ที่จุดที่เป็นปัญหา และจุดใดบ้างที่สามารถติด Tag ได้ ขอให้ยึดหลักดังนี้ จุดที่เป็นสิ่งที่ผิดปรกติ, จุดที่เข้าถึงได้ยาก, จุดที่ทำความสะอาดยาก, จุดที่เป็นที่มาของความสกปรก, จุดที่เป็นจุดอันตราย, จุดที่มีการรั่วไหล, จุดที่ทำให้เกิดของเสีย, สิ่งที่ไม่ได้ใช้งาน, จุดที่ขาดการหล่อลื่นหรือหล่อลื่นมากเกินไป, จุดที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ สิ่งเหล่านี้จะทำให้เป็นที่มา ของการเสียหายของเครื่องจักรต่อไปในอนาคตได้

Q6) ใครควรเป็นคนติด Tag

Answer)  ใครก็ได้ที่พบสิ่งผิดปรกติ โดยเฉพาะผู้บริหาร เพราะถ้าผู้บริหารติด Tag พนักงานก็จะเห็นว่าเป็นสิ่งที่ต้องทำ อย่าลืมว่าลูกน้องทำตามลูกพี่เสมอ

Q7) One Point Lesson เขียนอย่างไร

Answer)  ขอให้ยึดหลักในการเขียนดังนี้.

เน้นรูปมากกว่าข้อความ

หากวาดรูปได้จะดีกว่าถ่ายรูปมา โดยเฉพาะเรื่องชิ้นส่วนเครื่องจักร เนื่องจากจะเป็นการทำความเข้าใจเครื่องจักร ในระหว่างที่วาดรูปด้วย

ใช้ภาษาที่เข้าใจกันได้ในหน่วยงาน เพราะเป็นภาษาที่เข้าใจได้ง่าย

ผู้อ่านสามารถทำความเข้าใจได้ ในเวลามาเกิน 10 นาที

ควรเป็นเรื่องเดียว เพื่อให้สามารถเรียนรู้ได้ในเวลาอันสั้น

Q8) One Point Lesson ควรเขียนเรื่องอะไร

Answer)  เขียนเรื่องอะไรก็ได้ที่ต้องการสื่อสารให้ คนที่อยู่ในหน่วยงานทราบ เช่นเรื่องที่ควรรู้ เรื่องที่เคยเกิดความผิดพลาด เรื่องความปลอดภัย เรื่องที่เป็นข้อควรระวัง เป็นต้น

Q9) ใครควรเป็นคนเขียน One Point Lesson

Answer)  ใครก็ได้ที่ต้องการสื่อสารเรื่องนั้นๆ ให้ผู้อื่นทราบ หากเป็นพนักงานเดินเครื่องสื่อสาร ไปที่พนักงานเดินเครื่อง ก็เขียนโดยใช้ภาษาที่เข้าใจกันในกลุ่มได้เลย หากเป็นช่างต้องการสื่อสาร ไปที่พนักงานเดินเครื่อง ก็ควรให้ช่างมาแนะนำวิธีเขียน และอธิบายให้พนักงานเดินเครื่องสักคนหนึ่งเข้าใจ และเขียนออกมาเป็นภาษาของพนักงานเดินเครื่อง จะเห็นได้ว่า เป็นทั้งการให้ช่าง และพนักงานเดินเครื่อง ได้ถ่ายทอดความรู้กัน พนักงานเดินเครื่อง ก็มีความภูมิใจที่ได้แนะนำในเรื่องใหม่ ให้เพื่อนๆรู้ด้วย เป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว

Q10) การทำ AM มี 7 ขั้นตอนอะไรบ้าง

Answer)  7 ขั้นตอนของการทำ AM ดังนี้.

  • การทำความสะอาดเครื่องจักร
  • การขจัดที่มาของการปนเปื้อนของเครื่องจักร และขจัดจุดที่ยากต่อการเข้าถึง
  • การสร้างมาตรฐานการตรวจสอบชั่วคราว
  • การตรวจสอบทั่วไป
  • การตรวจสอบด้วยตนเองโดยอัตโนมัติ
  • การจัดการสถานที่ทำงานด้วยตนเอง
  • การบริหารจัดการด้วยตนเอง

 

Q11) การทำ AM ต้องทำทีละขั้นหรือไม่ทำทีเดียว 7 ขั้นตอนเลยได้ไหม

Answer) ต้องทำทีละขั้น ไม่สามารถทำข้ามขั้นตอนได้ หากมองให้ลึกจะเห็นว่าการทำ AM ไม่ใช่การทำเพื่อให้เครื่องจักรดีเท่านั้น แต่เป็นการพัฒนาพนักงานให้มีคิดเป็น วางแผนเป็น เป็นใช้เครื่องจักเป็นเครื่องมือในการฝึกคน ตั้งแต่เริ่มมองหาปัญหา ที่ขั้นตอนที่ 1 คือทำความสะอาดหากสิ่งผิดปรกติ จนมาขั้นที่ 2 หาสาเหตุของปัญหาที่พบในขั้นตอนที่ 1 ว่ามาจาก ความผิดพลาดเรื่องใด และทำอย่างไรไม่ให้ปัญหานั้น กลับมาเกิดขึ้นอีกโดยการจัดทำมาตรฐานชั่วคราว ในขั้นตอนที่ 3 จะเห็นว่าเพียง 3 ขั้นตอนก็เปลี่ยนวิธีคิดของพนักงานไปในระดับหนึ่งแล้ว

Q12) จำเป็นไหมที่ในการทำ TPM ต้องมีที่ปรึกษา

Answer) ที่ปรึกษามีหน้าที่ในการแนะนำ และช่วยในการแก้ปัญหา การดำเนินการนั้น ต้องให้หน่วยงานเป็นผู้ดำเนินการเอง ที่ปรึกษาไม่สามารถที่จะไปสั่งให้ทำอะไร หรือไม่ทำอะไรได้ เพราะหน่วยงานเองรู้ดีที่สุดว่า ตอนนี้ต้องการอะไร และปัญหาอยู่ที่ใด แต่โดยมากแล้วการทำอะไรก็ตาม คนภายในด้วยกันมักไม่ฟังกันเอง จึงต้องมีคนนอกมาบอก มาเป็นผู้ตัดสินข้อขัดแย้ง และมาคอยติดตามความคืบหน้า ลองนึกดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าอีก 3 เดือน จึงจะสอบ เราก็คงยังไม่ดูหนังสือ แต่ถ้าสัปดาห์หน้า จะสอบเราก็คงต้องดูหนังสืออย่างเต็มที่ ที่ปรึกษาก็เหมือนกับการสอบนั่นเอง

Q13) Focus Improvement คืออะไร

Answer) การปรังปรุงทุกอย่างเป็น Improvement ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการปลด Tag ก็เป็นการปรับปรุง เพื่อให้เครื่องจักรดีขึ้น แต่คำว่า Focus คือ เฉพาะเรื่อง นั่นคือ เราต้องเลือกเรื่องที่เราคิดว่าเป็นปัญหา และมาทำการปรับปรุง เพื่อแก้ปัญหานั้น โดยแก้ไขไปทีละเรื่อง เพื่อให้ปัญหานั้นหมดไปทีละเรื่องเช่นกั

Q14) การทำ Focus Improvement ต่างจากการทำ QCC อย่างไร

Answer) เหมือนกัน แต่การทำ QCC อาจเพียงแค่ลดปัญหาลงได้ตามเป้าหมายก็จบ แต่ Focus Improvement จะทำเรื่องนั้น จนกว่าจะสามารถลดปัญหาลง จนเป็นศูนย์ให้ได้

Q15) ขั้นตอนการทำ Focus Improvement เหมือนกับ AM หรือไม่

Answer) ถ้าจะบอกว่ามีขั้นตอน หรือไม่ ก็ต้องตอบว่ามี แต่คงต่างจาก AM เพราะขั้นตอนของ Focus Improvement จะเริ่มจาก

การทำความสะอาดเครื่องจักร

การขจัดที่มาของการปนเปื้อนของเครื่องจักร และขจัดจุดที่ยากต่อการเข้าถึง

การสร้างมาตรฐานการตรวจสอบชั่วคราว

การตรวจสอบทั่วไป

กำหนดเป้าหมาย และแผนงาน

วิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหา

วางมาตรการแก้ไข และป้องกัน

ลงมือปฏิบัติ

วัดผลที่ได้ตลอดการทำงาน

จัดทำมาตรฐาน เพื่อไม่ให้ปัญหากลับมาเกิดซ้ำ

Q16) การดำเนินการเสาหลัก Planned Maintenance มีวัตถุประสงค์อย่างไร

Answer) การดำเนินการ Planned Maintenance นั้นเพื่อต้องการให้เครื่องจักรเสียเป็นศูนย์ และค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาต่ำที่สุด ดังนั้นในการกำหนดการบำรุงรักษานั้น จะต้องเลือกให้เหมาะสมกับชิ้นส่วนด้วย เพื่อไม่ให้ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา สูงเกินไป

Q17) การบำรุงรักษามีกี่ประเภท

Answer) สามารถแบ่งเป็น 5 ประเภท ดังนี้

  • การบำรุงรักษาด้วยตนเอง (Autonomous Maintenance)
  • การบำรุงรักษาตามคาบเวลา (Time Base Maintenance)
  • การบำรุงรักษาตามสภาพ (Condition Base Maintenance)
  • การบำรุงรักษาเมื่อเครื่องหยุด (Breakdown Maintenance)
  • การปรับปรุงแก้ไข (Corrective Maintenance)

 

Q18) Breakdown Maintenance จัดเป็นการบำรุงรักษาหรือไม่

Answer) เป็นคำถามที่ดีมาก หลายคนคิดว่าวัตถุประสงค์ของการวางแผนการบำรุงรักษานั้นคือ เครื่องเสียเป็นศูนย์ ดังนั้น Breakdown Maintenance จึงเป็นการบำรุงรักษาไม่ได้ แต่แท้จริงแล้ว Breakdown Maintenance เป็นการบำรุงรักษาเชิงวางแผนอย่างหนึ่ง คือวางแผนว่าจะให้เครื่องจักรนั้น Breakdown แล้วจึงทำการซ่อม ดังนั้นเครื่องจักรที่ใช้การบำรุงรักษาแบบนี้ จะเป็นเครื่องจักรที่ไม่ค่อยมีความสำคัญมากนัก คงไม่มีใคร ที่จะทำการเปลี่ยนหลอดไฟที่บ้าน เมื่อมีอายุครบ 6 เดือน เพราะถ้าเสียเมื่อใด เราก็สามารถหาซื้อหลอดไฟมาเปลี่ยนได้ โดยใช้เวลาไม่มาก และมีค่าใช้จ่ายที่น้อยกว่า การที่เราจะเปลี่ยนก่อนที่จะเสีย นั่นคือ เรากำหนดให้หลอดไฟของเรา มีการบำรุงรักษาแบบ Breakdown Maintenance

Q19) เมื่อเกิด Breakdown ขึ้นใครควรต้องเป็นผู้ที่รับผิดชอบ

Answer) เมื่อคุณไม่สบาย ใครเป็นผู้รับผิดชอบ หมอ หรือตัวคุณเอง หากรถที่คุณใช้อยู่เป็นประจำเสียขึ้นมา ใครต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ช่าง หรือตัวคุณเอง ดังนั้นผู้ที่ต้องรับผิดชอบ เมื่อเครื่องจักรเกิดเสียขึ้นมา ก็คงต้องเป็นผู้ที่ใช้เครื่อง ส่วนการที่จะวินิจฉัยว่า เสียที่ไหน เกิดขึ้นได้อย่างไร ทำอย่างไรไม่ให้เกิดขึ้นอีก ก็คงต้องเป็นหน้าที่ของช่าง ที่จำทำการวิเคราะห์หาสาเหตุ และการป้องกัน ผู้ที่ใช้เครื่อง ต้องเป็นผู้ที่บอกอาการสำรวจ ตรวจตาจุดต่าง ๆให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ดีอยู่เสมอ และตรวจหาความผิดปรกติ ก่อนที่จะทำให้เกิดเครื่องเสียขึ้นได้

Q20) ระบบคอมพิวเตอร์ที่ช่วยในการวางแผนบำรุงรักษาจำเป็นต้องมีหรือไม่

Answer) ถ้าหมายถึง CMMS หรือ Computerize Maintenance Management System จะว่าจำเป็น ก็คงไม่ใช่ แต่เป็นของที่ทำให้เราสามารถทำงานได้ง่ายขึ้นเท่านั้น ลองนึกภาพถึงการที่เราต้องเก็บข้อมูล ของการบำรุงรักษามากมาย ไม่ว่าจะเป็นประวัติการซ่อมที่ผ่านมา ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา อะไหล่ที่ใช้ไปกับเครื่องจักรนั้น ๆ ไว้ในแฟ้ม ก็ยังสามารถที่จะทำงานได้ แต่ถ้ามีก็ดีกว่า แต่ไม่ใช่เรื่องจำเป็น

Q21) การวัดความสามารถของพนักงานวัดอย่างไร

Answer) เมื่อพูดถึงการวัด ก็ต้องมีเกณฑ์ที่จะใช้วัดที่เป็นตัวเลข ดังนั้นการวัดความสามาถ ก็อาจมาจากการใช้ข้อสอบ หรือได้จากการสอบสัมภาษณ์ ถึงสถานะการณ์ต่างๆ ว่ามีความเข้าใจในการทำงานมากน้อยขนาดไหน จะใช้วิธีการใดในการวัดก็ได้ แต่การวัดนั้นต้องสามารถให้แยกออก ระหว่างผู้ที่รู้ กับผู้ที่ไม่รู้ หากการใช้ข้อสอบ และทุกคนสอบได้คะแนนสูง ทุกคนก็คงต้องกลับมาดูที่ข้อสอบอาจง่ายเกินไป หรือเกิดได้คะแนนน้อยทุกคน ก็คงเป็นไปในทางตรงกันข้าม

Q22) การแบ่งระดับความรู้ของพนักงานออกเป็นระดับแบ่งอย่างไร

Answer) ต้องเข้าใจก่อนว่าการแบ่งมี 5 ระดับ ดังนี้

ระดับ 0 คือ ไม่รู้อะไรเลย

ระดับ 1 คือ รู้ในทางทฤษฎี

ระดับ 2 คือ รู้ และสามารถปฏิบัติได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุม

ระดับ 3 คือ รู้ และสามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง

ระดับ 4 คือ รู้ และสามารถปฏิบัติได้ และสอนผู้อื่นได้

ดังนั้นการแบ่งพนักงานโดยคร่าว ๆ ก็สามารถแบ่งได้ว่า
เมื่อเข้ามาทำงานใหม่ ก็จะเป็นระดับ 0 และ
เมื่อเรียนรู้ว่าทำอย่างไรโดยการสอนงาน และทำข้อสอบก็จะเป็นระดับ 1
เมื่อให้ออกไปทำงาน และแต่ยังคล่อง ก็จะเป็นระดับ 2
เมื่อสามารถทำงานได้ด้วยตัวเอง ก็จะเป็นระดับ 3
และเมื่อพร้อมที่จะมาสอน ให้กับพนักงานใหม่ ก็จะเป็นระดับ 4

ซึ่งนี่จะเป็นการแบ่งแบบคร่าว ๆ เท่านั้นในการดำเนินการ ต้องลงรายละเอียดกันเป็นแต่ละกรณี แต่ละเรื่องลงไปว่าจะวัดอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเดินเครื่อง การดำเนินการความปลอดภัย ซึ่งก็ต้องแยกกันในแต่ละหัวข้อ

Q23) หากจะดำเนินการเสาหลัก Quality Maintenance จะต้องทำอย่างไร

Answer) กดที่นี้เลย

Q24)ทำอย่างไรอุบัติเหตุจึงจะเป็นศูนย์

Answer) อุบัติเหตุคือ สิ่งที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด ดังนั้นหากต้องการให้อุบัติเหตุเป็นศูนย์ ก็ต้องทำทุกอย่าง ให้เป็นสิ่งที่คาดคิดไว้ให้ได้ หรือที่เขาเรียกกันว่า ทำการประเมินความเสี่ยงก่อนการทำงานนั่นเอง การเกิดอุบัติเหตุนั้นก็ได้รับการควบคุม

Q25) ผู้บริหารต้องการให้การดำเนิน TPM ประสบความสำเร็จอย่างเร็วในเวลาอันสั้น โดยให้ผู้ปฏิบัติทำตามแผนที่กำหนด โดยที่ให้การสนับสนุนด้านต่างๆ ยังไม่เพียงพอ ส่วนพนักงานก็กลัวจะมีภาระเพิ่ม เพราะปัญหาหน้างานก็มากอยู่แล้ว จะทำอย่างไร ให้ผู้มีอำนาจมีปัญญา และผู้มีปัญญามีอำนาจ และทั้งคู่มีทัศนคติไปในทิศทางเดียวกัน

Answer) ผู้บริหารต้องการให้การดำเนิน TPM ประสบความสำเร็จอย่างเร็วในเวลาอันสั้น โดยให้ผู้ปฏิบัติทำตามแผนที่กำหนด โดยที่ให้การสนับสนุนด้านต่างๆ ยังไม่เพียงพอ ส่วนพนักงานก็กลัวจะมีภาระเพิ่ม เพราะปัญหาหน้างานก็มากอยู่แล้ว จะทำอย่างไร ให้ผู้มีอำนาจมีปัญญา และผู้มีปัญญามีอำนาจ และทั้งคู่มีทัศนคติไปในทิศทางเดียวกัน

ผู้บริหารระดับสูงส่วนมากแล้วจะเป็นพวกที่เล็งผลเลิศ คาดหวังสูง เป็นธรรมชาติของคนตำแหน่งนี้

คุณลองคิดดูซิว่าเขากว่าจะฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ มา กว่าจะถึงระดับนี้ได้ต้องผ่านอะไรมาบ้าง ถ้าเข้าใจตรงนี้แล้วก็ต้องขอให้ใจเย็นๆไว้

ปัญหาที่คุณถามมาเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในทุกๆ องค์กร เป็นหน้าที่ของ TPM Center หรือ อาจจะเป็นคุณเองที่ต้องจูนสองส่วนนี้เข้าหากัน

การจัดการกับผู้บริหารระดับสูงก็คือ

1. คนกลุ่มนี้ไม่ชอบมีปัญหากับคนที่สูงกว่า ดังนั้นหาบทความ หรือข้อเขียนที่เกี่ยวข้องกับปัญหาของคุณนี้ส่งให้เขาอ่าน โดยบอกว่าเห็นว่าน่าสนใจดี ลองดูในส่วนของบทความของ TPMthai ก็ได้
2. พยายามตกลงกับเขาในเชิงเป้าหมาย ระยะเวลา ผลลัพธ์ทั้งในแบบรูปธรรม นามธรรม ทรัพยากรที่เขาต้องสนับสนุน ให้ได้ก่อนที่จะลงมือทำ
3. เวลาทำพยายามเน้นที่ผลลัพธ์ให้มากกว่ากระบวนการ ผู้บริหารเขาชอบสนใจในแง่กระบวนการมากกว่าผลลัพธ์ (เพราะเขาไม่ไว้ใจ) ทำให้เรารู้สึกไม่สบายใจในการทำงาน เราต้องยืนยันด้วยผลลัพธ์
4. ถ้าเขายังอยากสนใจเรื่องกระบวนการ ให้เราทำตามกระบวนการที่เขาต้องการอย่าขัดใจแต่ให้ตกลงในเรื่องของผลลัพธ์ด้วย แล้วประเมินผลลัพธ์ที่ออกมาว่าได้หรือไม่
5. พยายามรายงานความคืบหน้า ปัญหา อุปสรรคในการดำเนินการให้เขาทราบและขอความเห็นจากเขา เขาจะรู้สึกว่างานนี้เป็นงานที่เขาทำเอง ให้เขาช่วยแก้ปัญหาในบางเรื่อง เขาอาจจะบ่นว่าคุณบ้าง เป็นเรื่องปกติของคนตำแหน่งนี้

การจัดการกับพนักงาน ก็คือ

1. ให้ความรู้กับเขาว่า TPM คืออะไร เขาจะได้ผลประโยชน์อะไร (เน้นพนักงานได้อะไร มากกว่าบริษัทได้อะไร) ยกปัญหาที่ทำงานที่เป็นอยู่เอามาให้เห็นภาพชัดเจน
2. หาตัวอย่างที่ทำประสบความสำเร็จมาให้เขาดู (ถ้าทำได้)
3. จัดทำ Model ให้สำเร็จ ทั้งในด้านวัตถุหรือเครื่องจักร และด้านบุคคลที่มีใจในการทำ TPM และทำงาน
4. พยายามแสดงให้เขาเห็นว่าคนที่ทำ TPM เป็นคนสำคัญขององค์กร เช่น ประกาศรางวัล มอบรางวัล มอบโล่ห์ต่อหน้าพนักงานคนอื่นๆ ส่ง
5. เสริมสนับสนุนให้มีการทำ TPM อย่างสม่ำเสมอเช่น มีคะแนน TPM ในการพิจารณาผลงาน โบนัส เป็นต้น
6. ทำประชาสัมพันธ์ TPM อย่างสม่ำเสมอ ห้ามขาด ให้ TPM มันเขาไปในใจเขาโดยไม่รู้ตัว เช่น LOGO คำขวัญ ติดตามที่ต่างๆ

อย่าลืม การทำ TPM ไม่ใช่การทำงานที่เกี่ยวกับเครื่องจักรอย่างเดียว แต่เกี่ยวกับคนที่ทำงานมากกว่า

ผมว่าเทคนิคเหล่านี้น่าจะช่วยคุณได้ ถ้ามีอะไรก็ถามมาได้อีก