วันก่อนกล่าวถึงเรื่องของ ต้นทุนทั้งแบบต้นทุนทางอุดมคติ ต้นทุนปัจจุบัน และต้นทุนในการแข่งขัน แล้วก็บอกว่า การลดต้นทุนคือการลดความสูญเสีย โดยให้มองหาความสูญเสียที่เกินออกไปจากต้นทุนทางอุดมคติ
ก่อนจะไปกันต่อ ขอเน้นย้ำเรื่องต้นทุนในอุดมคติอีกครั้งว่าเป็นต้นทุนในฝัน เป็นต้นทุนทางความคิด ที่ไม่มีความสูญเปล่า ความสูญเสียเลย เครื่องจักรไม่มีเวลาหยุด ไม่มีเวลาในการเปลี่ยนงาน ไม่มีของเสีย ไม่มีวัตถุดิบทิ้ง หรือ วัตถุดิบเหลือทิ้งเลย นี่คือต้นทุนทางอุดมคติ
ถ้าจะลดต้นทุนก็ให้ลดจาก ต้นทุนที่แตกต่างจาก”ต้นทุนในอุดมคติ” แต่
ความสูญเสีย ที่ต่างไปจากต้นทุนในอุดมคตินั้น บางทีมันก็ลดไม่ได้ เช่น สมมุติว่าเราเป็นโรงงานปลากระป๋อง เราซื้อปลามา 10 กก. ซึ่งปลานั้นมีทั้งหัวปลา ตัวปลา หางปลา แต่เวลาที่เราจะทำปลากระป๋องขายเราต้องตัดหัวปลา หางปลา หรือเครื่องในของปลาออกไป ซึ่งนั่นทำให้ปลา 10 กก. ไม่สามารถผลิตได้เป็นปลากระป๋อง 10 กก. ด้วย ถามว่า หัวปลา หางปลา เครื่องในปลา เป็นความสูญเสียหรือไม่ ต้องบอกว่า “เป็นความสูญเสีย” แต่ เป็นวามสูญเสียแบบที่เราเรียกว่า “ความสูญเสียที่ยังไม่อาจลดได้” หรือ Untouchable Losses ซึ่งมีอยู่ในทุกโรงงาน โรงงานปั้มขึ้นรูปแผ่นเหล็ก ซื้อเหล็กแผ่นมาปั้ม ก็มีขอบ ๆ ที่ต้องทิ้งออกไป โรงงานฉี่พลาสติกก็ต้องมีรันเนอร์ที่ต้องออกมาจากการผลิต พวกนี้เป็นความสูญเสียแบบ ความสูญเสียที่ยังไม่อาจจะลดได้ ความสูญเปล่าแบบนี้เป็นไปตามเทคนิควิธีการละเทคโนโลยีในการผลิต ซึ่งก็จะเปลี่ยนแปลงไปตามความสามารถของเครื่องจักร เทคนิค และเทคโนโลยีในแต่ละยุคแต่ละสมัย
ความสูญเปล่าอีกแบบหนึ่งเป็นความสูญเปล่าแบบที่เรียกว่า “ความสูญเสียที่จับต้องได้” หรือ Touchable Losses ความสูญเสียแบบนี้แหละที่เป็นตัวถ่วงทำให้ต้นทุนปัจจุบันของเราสูงโดยไม่จำเป็น ความสูญเปล่าพวกนี้เป็นความสูญเปล่าที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นเลย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเสีย เวลาเปลี่ยนงาน ของเสีย เป็นต้น ความสูญเสียพวกนี้เป็นความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากการทำงานของเราเอง ไม่เกี่ยวกันเครื่องจักร เทคโนโลยี หรือกระบวนการแต่อย่างใด
การลดต้นทุนที่จะลดได้นั้น ต้องมองจากความสูญเสียที่จับต้องได้นี้เป็นหลัก แต่
โรงงานส่วนมากมักมองไม่ออกและแยกไม่ได้ระหว่าง ความสูญเสียที่จับต้องไป กับความสูญเสียที่ยังไม่อาจลดได้เช่น เครื่องจักรเสีย ยอมรับได้ที่ 0.5% เป็นต้น นั่นหมายความว่า เรากำลังเอา ความสูญเสียจากเครื่องเสียจำนวน 0.5% ที่ควรจะเป็นความสูญเสียที่จับต้องได้แก้ไขได้ ไปใส่ไว้ในความสูญเสียที่ยังไม่อาจลดได้ เท่ากับเป็นการยอมรับให้ปัญหามันเกิดขึ้น นั่นคือ “การซุกปัญหาไว้ใต้พรม”
เราจึงควรพิจารณาให้ดีว่า ความสูญเสียที่ไม่อาจลดได้ นั้นต้องมาจาก เทคโนโลยี ความจำเป็นเฉพาะของเครื่องจักร และไม่ว่าจะเป็นองค์กรใดที่ใช้เทคโนโลยีเดียวกันย่อมต้องเกิดขึ้นเหมือนกัน ไม่ได้เกิดจากการดำเนินการขององค์กรเอง คราวหน้าจะมาคุยเรื่อง ความสูญเสียกับต้นทุน บ้าง แถวนี้มีนักบัญชีไหม!!!!